การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ สาระเศรษฐศาสตร์
ผู้วิจัย : นุชรี เนียมรัตน์
ปีที่วิจัย : ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐาน และความต้องการในการพัฒนา การจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยศาสตร์พระราชา 2) เพื่อร่างรูปแบบการจัดการเรียนรู้สาระ เศรษฐศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โดยใช้การถอดบทเรียนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบูรณาการกับศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้สาระเศรษฐศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โดยใช้การถอดบทเรียนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบูรณาการกับศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 4) เพื่อประเมินผล และปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนรู้สาระ เศรษฐศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โดยใช้การถอดบทเรียนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบูรณาการกับศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 44 คน โรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี) ซึ่งได้จากการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ รูปแบบการจัดการเรียนรู้ เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลแบบสอบถามความเหมาะสมขององค์ประกอบของรูปแบบ แบบทดสอบ ประเมินพฤติกรรมนักเรียนที่แสดงออกตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชา และแบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน การสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) เพื่อสอบถามความเหมาะสมของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ การวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า t-test การวิเคราะห์เนื้อหา และการถอดบทเรียน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลศึกษาข้อมูลพื้นฐาน และความต้องการในการพัฒนาการจัดการ สรุปว่า การจัดการเรียน ควรเร่งพัฒนาความรู้นักเรียนในสาระที่ 3 เศรษฐศาสตร์ โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน มุ่งความพอประมาณกับศักยภาพ ของนักเรียน พอประมาณกับภูมิสังคมของโรงเรียน และชุมชนที่ตั้ง ฝึกให้นักเรียนคิดเป็นทำเป็นอย่างมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในด้านต่างๆ โดยการดำเนินกิจการต้องนำไปสู่ความยั่งยืนของผล โดยที่นักเรียนมีความรู้ และเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชาน้อมนำสู่วิถีชีวิต และเผยแพร่สู่ครอบครัว ชุมชน
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้สาระ เศรษฐศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โดยใช้การถอดบทเรียนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบูรณาการกับศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ใช้รูปแบบ “AGKC Model” ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้ การทบทวนความรู้เดิม (Activate Prior Knowledge : A) ขั้นกิจกรรมกลุ่ม (Group Process : G) การแสวงหาความรู้ใหม่ (Knowledge Acquisition : K) สรุป และขยายผล (Conclusion and extend results : C) การประเมินความเหมาะสมของการกำหนดองค์ประกอบรูปแบบการจัดการเรียนรู้มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ส่วนการทดลองใช้ในการทดลองภาคสนามพบว่า มีประสิทธิภาพ 80.75/81.33
3. การทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้สาระ เศรษฐศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โดยใช้การถอดบทเรียนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบูรณาการกับศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 การทดสอบหาค่าประสิทธิภาพ ขั้นทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง พบว่า มีประสิทธิภาพ 82.96/83.93
4. การประเมินผล และถอดบทเรียน การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนเท่ากับ 10.44 และหลังเรียนเท่ากับ 25.18 และเมื่อนำเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่าคะแนนก่อนเรียน และหลังเรียนมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 การประเมินพฤติกรรมนักเรียนที่แสดงออกตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชา อยู่ในระดับมาก การประเมินความพึงพอใจของนักเรียนอยู่ในระดับมาก
การถอดบทเรียน รูปแบบการจัดการเรียนรู้สาระ เศรษฐศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โดยใช้การถอดบทเรียนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบูรณาการกับศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 พบว่า นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เศรษฐศาสตร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน เป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ นักเรียนได้รับการจัดการเรียนรู้แบบการถอดบทเรียนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบูรณาการกับศาสตร์พระราชา ที่เน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริงอย่างเป็นระบบขั้นตอน เปิดโอกาสให้นักเรียนได้พบเจอปัญหา และคิดค้นวิธีการต่างๆ เพื่อแสวงหาคำตอบด้วยตัวเองนักเรียนมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น อภิปรายปัญหา และหาข้อสรุปในการแก้ปัญหาร่วมกัน