การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้วิชาชีววิทยาฯ
สืบเสาะหาความรู้ (5E) เรื่อง การสังเคราะห์ด้วยแสง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้วิชาชีววิทยาโดยใช้รูปแบบ
การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง การสังเคราะห์ด้วยแสง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
2) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาชีววิทยา เรื่อง การสังเคราะห์ด้วยแสง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ให้มีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของนักเรียนทั้งหมด มีคะแนนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 ภาคเรียนที่ 1 จำนวน 29 คน ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนเทศบาล 7 อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี สังกัดสำนักการศึกษาเทศบาลนครอุดรธานี รูปแบบการวิจัยแบบก่อนทดลองเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติการทดลอง ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ตามโดยใช้รูปแบบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง การสังเคราะห์ด้วยแสง จำนวน 5 แผน รวม 16 ชั่วโมง 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้
แบบสัมภาษณ์นักเรียน แบบทดสอบย่อยท้ายวงจร แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลการวิจัย ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) แบ่งเป็น 3 วงจรปฏิบัติการ ผู้วิจัยได้บันทึกผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ แบบสัมภาษณ์นักเรียน และแบบทดสอบย่อยท้ายวงจร เมื่อสิ้นสุดแต่ละวงจรได้ทำการทดสอบเพื่อประเมินพัฒนาการของนักเรียน และนำข้อมูลจากการสะท้อนผลการปฏิบัติมาวิเคราะห์ร่วมกับผู้ช่วยวิจัย เพื่อปรับปรุงแก้ไขการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในวงจรการปฏิบัติการต่อไป
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้รูปแบบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้
เรื่อง การสังเคราะห์ด้วยแสง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สามารถสรุปขั้นตอนในกิจกรรมการเรียนรู้ได้ดังนี้
1.1 ขั้นสร้างความสนใจ (Engagement) ขั้นที่ 1 ขั้นสร้างความสนใจ ในขั้นนี้ครูจะกระตุ้นความสนใจของนักเรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การตั้งคำถามที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดข้อสงสัยหรือการใช้สื่อต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน แล้วกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดข้อคำถามขึ้นและบางครั้งครูกระตุ้นความสนใจของนักเรียนด้วยการสาธิตโดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสาธิต เป็นต้น โดยครูเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนเท่าเทียมกันในการตั้งคำถามถามและตอบคำถาม
1.2 ขั้นสำรวจและค้นหา (Exploration) ในขั้นนี้ครูจะให้นักเรียนลงมือค้นหาคำตอบจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เป็นกลุ่ม ซึ่งสมาชิกทุกคนภายในกลุ่มต้องมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมทุกครั้ง โดยผู้เรียนจะแบ่งหน้าที่สลับกันในแต่ละครั้งของการทำกิจกรรม ทำให้ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วมและมีโอกาสเรียนรู้ในทุกขั้นตอนของการเรียนรู้
1.3. ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป (Explanation) ในขั้นนี้นักเรียนแต่ละกลุ่มต้องนำข้อมูลที่ได้จากการทดลองมาวิเคราะห์ แปลผล สรุปผล และนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ตาราง รูปภาพ เป็นต้น จากนั้นครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายผลการศึกษา โดยครูคอยตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนตอบ
1.4 ขั้นขยายความรู้ (Elaboration) ในขั้นนี้ครูจะยกตัวอย่างหรือสถานการณ์อื่น ๆ เพื่อที่นักเรียนจะได้นำองค์ความรู้ที่ค้นพบจากการศึกษามาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์อื่น ๆ ได้ ดังนั้นในขั้นนี้นอกจากที่นักเรียนจะได้นำองค์ความรู้ที่ค้นพบไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์อื่น ๆ แล้ว ยังเป็นการตรวจสอบว่าอีกว่าองค์ความรู้ที่นักเรียนค้นพบนั้นมีข้อบกพร่องหรือขัดแย้งหรือผิดไปจากทฤษฎี หรือไม่ อย่างไร โดยครูจะให้นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันพูดคุยและอภิปรายถึงประเด็นดังกล่าว จากนั้นครูจะตั้งคำถามและเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน
1.5 ขั้นประเมิน (Evaluation) ขั้นนี้ครูจะให้นักเรียนทำใบงาน เพื่อตรวจสอบว่านักเรียนทุกคนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องที่เรียน โดยใบงานกิจกรรมดังกล่าวนักเรียนต้องอธิบายเหตุผลประกอบ โดยผู้วิจัยจะคอยสังเกตนักเรียนในขณะดำเนินกิจกรรมการเรียนการเรียนรู้ ตรวจผลงานต่าง ๆ ของนักเรียน บันทึกหลังการจัดการเรียนรู้ทุกครั้งแล้วนำข้อมูลที่ได้จากการจัดการเรียนรู้มาวิเคราะห์เพื่อเป็นแนวทางในการ พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ พบว่าจำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 22 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 29 คน คิดเป็นร้อยละ 75.86 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือร้อยละ 70
4. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้มีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในด้านเนื้อหาวิชา ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ด้านสื่อการเรียนการสอน ด้านการวัดและประเมินผล มากทุกรายการ ( =3.82, S.D.=0.21)