บทคัดย่อ
ชื่อผู้วิจัย นางจินตนา สุหงษา
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
สังกัด โรงเรียนอนุบาลสุโขทัย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
สุโขทัย เขต 1
ปีที่ศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการสอนตามแนวคิด “สอนแบบไม่สอน” ร่วมกับวิธีการสอนอ่านแบบบูรณาการของเมอร์ด็อก (MIA) เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอ่านจับใจความภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาและหาประสิทธิภาพรูปแบบการสอนตามแนวคิด “สอนแบบไม่สอน” ร่วมกับวิธีการสอนอ่านแบบบูรณาการของเมอร์ด็อก (MIA) เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอ่านจับใจความภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 2) ประเมินประสิทธิผลรูปแบบการสอนตามแนวคิด “สอนแบบไม่สอน” ร่วมกับวิธีการสอนอ่านแบบบูรณาการของเมอร์ด็อก (MIA) เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอ่านจับใจความภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยการเปรียบเทียบความสามารถ ในการอ่านจับใจความของนักเรียนที่เรียนตามรูปแบบการสอนก่อนและหลังเรียน และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการสอนตามแนวคิด “สอนแบบไม่สอน” ร่วมกับวิธีการสอนอ่านแบบบูรณาการของเมอร์ด็อก (MIA) และ 3) ขยายผลรูปแบบการสอน กลุ่มอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนอนุบาลสุโขทัย จำนวน 30 คน ดำเนินการวิจัยในลักษณะของการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยแบบผสมผสานวิธี (Mixed Methods Research) ที่มีลักษณะเป็นแบบแผนเชิงผสมผสานแบบรองรับภายใน (The Embeded Design) ด้วยการศึกษาวิธีการ เชิงปริมาณ (Quantitative Methods) เสริมด้วยวิธีการเชิงคุณภาพ (Qualitative Methods) และใช้แบบแผนการทดลองแบบทดสอบกลุ่มเดียวสอบก่อน-หลัง (The One Group Pretest-Posttest Design) วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย (x) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) t-test แบบ dependent และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) สรุปผลการวิจัย อภิปรายผลและมีข้อเสนอแนะ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
สรุปผลการวิจัย
1. รูปแบบการสอนตามแนวคิด “สอนแบบไม่สอน” ร่วมกับวิธีการสอนอ่านแบบบูรณาการของเมอร์ด็อก (MIA) เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอ่านจับใจความภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีชื่อว่า “JINTANA Model” มีองค์ประกอบของรูปแบบ 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการ เน้นที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ขึ้นเองอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยการแสวงหาความรู้ด้วยการเรียนรู้แบบผสมผสานเป็นการเรียนตามแนวทางการสอน “สอนแบบไม่สอน” ผสมผสานเข้ากับการสอน แบบวิธีการสอนอ่านแบบบูรณาการของเมอร์ด็อก (MIA) โดยผู้เรียนมีบทบาทสำคัญ ในการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนบทบาท และการเรียนรู้ 2) วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านจับใจความภาษาอังกฤษ 3) สาระและเนื้อหา สาระที่ 1 สาระที่ 2 สาระที่ 3 และสาระที่ 4 เรื่อง My Beloved Sukhothai แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 แผน 4) กระบวนการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 J - Join ขั้นที่ 2 I- Information ขั้นที่ 3 New Lesson ขั้นที่ 4 Train & Practice ขั้นที่ 5 Appraisal ขั้นที่ 6 New Ideal ขั้นที่ 7 Applying และ 5) การวัดและประเมินผล ความสามารถในการอ่านจับใจความภาษาอังกฤษ เป็น 4 ระดับประกอบด้วย 1) ความสามารถระดับ แปลความ 2) ความสามารถระดับตีความ 3) ความสามารถในระดับวิเคราะห์ความ 4) ความสามารถในระดับอ่านคิดสร้างสรรค์ โดยพบว่า รูปแบบการสอนภาษาอังกฤษ (JINTANA Model) มีประสิทธิภาพเท่ากับ 78.02/77.11
2. ประสิทธิผลของรูปแบบการสอนตามแนวคิด “สอนแบบไม่สอน” ร่วมกับวิธีการสอนอ่านแบบบูรณาการของเมอร์ด็อก (MIA) เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอ่านจับใจความ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 พบว่า 2.1) หลังเรียนตามตามรูปแบบการสอนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 2.2) นักเรียนมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการสอนโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการขยายผลรูปแบบการสอนตามแนวคิด “สอนแบบไม่สอน” ร่วมกับวิธีการสอนอ่านแบบบูรณาการของเมอร์ด็อก (MIA) เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอ่านจับใจความ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 พบว่า หลังเรียนตามรูปแบบการสอนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการสอนโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด