รายงานการประเมินโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียน
โรงเรียนวัดนางสาว (ถาวรราษฎร์บำรุง) ปีการศึกษา 2563
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร
ชื่อผู้ประเมิน นางสาวพรรณี ใจเพิ่ม
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนวัดนางสาว(ถาวรราษฎร์บำรุง)
ปีการศึกษา 2563 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ (Input Evaluation) ประเมินกระบวนการของโครงการ (Process Evaluation) ประเมินผลผลิตของโครงการ (Output Evaluation) และประเมินผลลัพธ์ของโครงการ (Outcome Evaluation) ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 81 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนวัดนางสาว(ถาวรราษฎร์บำรุง) จำนวน 13 คน รวม 94 คน กลุ่มที่ 2 ประเมินกระบวนการของโครงการ คือ ครูและบุคลากร ทางการศึกษา จำนวน 81 คน กลุ่มที่ 3 ประเมินผลผลิตเกี่ยวกับผลการพัฒนาคุณภาพนักเรียนตามหลักสูตร ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 81 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เข้ารับการทดสอบระดับชาติ จำนวน 274 คน รวม 342 คน กลุ่มที่ 4 ประเมินผลลัพธ์ของโครงการเกี่ยวกับความพึงพอใจที่มีต่อผลสำเร็จของการดำเนินโครงการ ได้แก่ ครูและบุคลากร จำนวน 31 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 3 คน นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 206 คน รวม 240 คน ประชากรกลุ่มที่ 1-3 ใช้ประชากรทั้งหมดเป็นกลุ่มตัวอย่าง ส่วนประชากรกลุ่มที่ 4 ได้มาโดยการกำหนดขนาดตัวอย่างจากการเปิดตารางสำเร็จรูปของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan) (Krejcie & Morgan, 1970) ได้ขนาดกลุ่มตัวอย่างที่ระดับความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ 5% และระดับความเชื่อมั่น 95 % จากการสุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มอย่างง่ายเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 แบบประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ ฉบับที่ 2 แบบประเมินกระบวนการของโครงการ และฉบับที่ 4 แบบประเมินผลผลิตเกี่ยวกับความพึงพอใจ เป็นแบบสอบถามลักษณะมาตราส่วนประมาณค่า ส่วนฉบับที่ 3 เป็นแบบบันทึกข้อมูลผลการพัฒนาคุณภาพนักเรียนตามหลักสูตร วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานจากประชากร และกลุ่มตัวอย่าง และวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการประเมิน พบว่า
1. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ (input Evaluation) พบว่า ในภาพรวม มีความเหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด 2 ด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยความเหมาะสมเรียงลำดับ คือ ด้านวัสดุ อุปกรณ์ อาคารสถานที่ แหล่งเรียนรู้ รองลงมาคือ ด้านครูและบุคลากร มีความเหมาะสมในระดับมาก 2 ด้าน เรียงลำดับ คือ ด้านงบประมาณและแหล่งงบประมาณ และด้านการบริหารจัดการ
2. ผลการประเมินกระบวนการของโครงการ (Process Evaluation) ตามวงจรคุณภาพ (PDCA) พบว่าในภาพรวม มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายขั้นตอน ทุกขั้นตอนมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด เรียงจากมากไปหาน้อย คือ การดำเนินงานตามแผน (Do) ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 5 ขั้นตอน รองลงมาคือ การประเมินผล (Check) และการสรุปรายงานผลโครงการ (Act) และขั้นที่มีค่าเฉลี่ยการปฏิบัติน้อยที่สุดคือ การวางแผนเตรียมการ (Plan) หากพิจารณาเฉพาะขั้นการดำเนินงานตามแผน(Do) ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 5 ขั้นตอน ทุกข้อมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด เรียงลำดับจากค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย ดังนี้ อันดับ 1 คือขั้นตอนการป้องกันและแก้ไขปัญหา อันดับ2 คือ ขั้นตอนการคัดกรอง อันดับ 3 คือขั้นตอนการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล ขั้นตอนการส่งเสริมและพัฒนานักเรียน และขั้นตอนการส่งต่อ มีค่าเฉลี่ยเท่ากัน
3. ผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
สรุปผลดังนี้
3.1 การจบหลักสูตรการศึกษาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2563 พบว่า ในภาพรวม ร้อยละของนักเรียนที่จบหลักสูตรตามกำหนด คิดเป็นร้อยละ 99.23 ผลการพัฒนาเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2562 ร้อยละ 0.36 บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด
3.2 ผลการประเมินคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตร 8 ประการ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2563 พบว่าในภาพรวม มีผลประเมินระดับดี – ดีเยี่ยม คิดเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละ 98.32
มีค่าเฉลี่ยลดลงจากปีการศึกษา 2562 ร้อยละ 1.36 แต่มีคุณภาพในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์ตามที่สถานศึกษากำหนด
3.3 ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เปรียบเทียบปีการศึกษา 2562 – 2563 พบว่า ในภาพรวมทั้ง 3 ระดับชั้น
ปีการศึกษา 2563 มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.12 ผ่านเกณฑ์ตามที่สถานศึกษากำหนด
4. ผลการประเมินผลลัพธ์ของโครงการ (Outcome Evaluation) ด้านความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อผลสำเร็จของโครงการ พบว่า ในภาพรวม มีความพึงพอใจในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ทุกข้อมีความพึงพอใจในระดับมาก ข้อที่ความพึงพอใจมีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ข้อ 4 นักเรียนรู้จักป้องกันตนเอง ดูแลสุขภาพตนเองและแนะนำผู้อื่นให้ปลอดจากสิ่งเสพติดหรืออันตรายต่าง ๆ ใกล้ตัว รวมถึงโรคระบาดได้ รองลงมาคือ ข้อ 5 นักเรียนสามารถหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง และข้อที่ความพึงพอใจมีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด ข้อ 12 นักเรียนที่มีความขัดสน/ขาดแคลนได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านทุนการศึกษา วัสดุอุปกรณ์ และอาหารกลางวัน/อาหารเสริมนมอย่างสม่ำเสมอ