รายงานการพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) สุขศึกษา ป.3
ผู้วิจัย นายศุภโชค มูลตื้อ ตำแหน่ง ครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ
สถานที่ทำงาน โรงเรียนเทศบาลพิบูลสวัสดี สำนักการศึกษาเทศบาลนครภูเก็ต
ปีที่ทำการวิจัย ปีการศึกษา 2562
……………………………………………………………………………………………………….
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา รายวิชาสุขศึกษา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ เพื่อใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน ศึกษาดัชนีประสิทธิผล เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา รายวิชาสุขศึกษา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงทดลองโดยอาศัยการทดลองกลุ่มเดียว วัดผลก่อนและหลังการทดลอง (The One Group pretest - Postest) กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนเทศบาลพิบูลสวัสดี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 31 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster random sampling) ใช้ชั้นเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา รายวิชาสุขศึกษา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 แบบทดสอบท้ายเล่มหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบสอบถามความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (t- test แบบ Dependent samples)
ผลการวิจัย พบว่า
1. ประสิทธิภาพของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา รายวิชาสุขศึกษา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพ 82.91/85.52 เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. ค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.) ของการเรียนรู้ด้วยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา รายวิชาสุขศึกษา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีค่าเท่ากับ 0.600 หมายถึงนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีความรู้หรือความก้าวหน้าทางการเรียนเพิ่มขึ้น 0.600 หรือคิดเป็นร้อยละ 60
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาสุขศึกษา โดยใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา รายวิชาสุขศึกษา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. ความพึงพอใจของนักเรียนต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา รายวิชาสุขศึกษา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก