รูปแบบการพัฒนาการบริหารจัดการระบบประกันคุณภาพการศึกษา
ของโรงเรียนวัดเขาเชิงเทียนเทพาราม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี
ผู้วิจัย: นางสรรนภา แน่นหนา ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนวัดเขาเชิงเทียนเทพาราม
คำสำคัญ: รูปแบบ, การบริหารจัดการ, ระบบประกันคุณภาพการศึกษา
บทคัดย่อวิจัย
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 4 ประการคือ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาและระดับของการบริหารจัดการระบบประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวัดเขาเชิงเทียนเทพาราม ก่อนการพัฒนา 2) เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาการบริหารจัดการระบบประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวัดเขาเชิงเทียนเทพาราม 3) เพื่อศึกษาผลการพัฒนาการบริหารจัดการระบบประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวัดเขาเชิงเทียนเทพา 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจในผลการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาโดยใช้รูปแบบการพัฒนาการบริหารจัดการระบบประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวัดเขาเชิงเทียนเทพาราม โดยประชากรและกลุ่มตัวอย่างเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนวัดเขาเชิงเทียนเทพาราม ระหว่างปีการศึกษา 2562 - 2563 จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) คณะครูและบุคลากร จำนวน 35 คน 2) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 14 คน 3) คณะกรรมการจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำหน้าที่ตรวจสอบระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา จำนวน 5 คน ใช้กลุ่มประชากรเป็นผู้ให้ข้อมูล และ 4) ผู้แทนผู้ปกครอง ใช้การเลือกอย่างเจาะจงจากกลุ่มประชากรมาเป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 18 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสรุปผลการศึกษาเอกสารแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 2 ชุด แบบบันทึกข้อมูลการสนทนากลุ่มและแบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบ
ผลการวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 1 ผลการศึกษาวิเคราะห์เอกสารพบว่าสภาพปัจจุบันปัญหาในการบริหารจัดการระบบประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) โรงเรียนมีทรัพยากร บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และระบบเทคโนโลยีที่ยังไม่เพียงพอและเหมาะสม แต่จุดเด่นคือ ชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับโรงเรียน ด้านกระบวนการ (Process) การวางแผนระบบการประกันคุณภาพยังไม่ชัดเจน การนิเทศกำกับติดตามไม่สม่ำเสมอ การสรุปรายงานผลข้อมูลยังไม่ครอบคลุมมาตรฐาน ผลสัมฤทธิ์และคุณลักษณะผู้เรียนยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ด้านผลผลิต (Output) คุณภาพการจัดการศึกษายังต้องได้รับการพัฒนาทั้งในด้านผู้เรียน ครูผู้สอน ระบบการบริหารจัดการ อาคารสถานที่สิ่งแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ ด้านผลกระทบ (Outcome) บุคลากรยังไม่มีความเข้าใจชัดเจนในเรื่องความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการระบบประกันคุณภาพทำให้มีทัศนคติเชิงลบต่อการประกันคุณภาพการศึกษา ข้อดีคือ ครู ผู้บริหาร นักเรียนและชุมชนพร้อมให้ความร่วมมือในการรับการเปลี่ยนแปลงและร่วมพัฒนางาน ผลการวิเคราะห์ระดับของการบริหารจัดการระบบประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวัดเขาเชิงเทียนเทพาราม ก่อนการพัฒนาพบว่าระดับการปฏิบัติก่อนการพัฒนา โดยภาพรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง และเมื่อจำแนกรายด้านพบว่า ด้านการควบคุมคุณภาพ (Quality Control ) โดยรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลางโดยประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยระดับการปฏิบัติต่ำคือ 1) นำผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาเป็นข้อมูลในการวางแผนการดำเนินงาน 2) มีการรายงานข้อมูลผลการจัดกิจกรรมตามมาตรฐานการประกันคุณภาพอย่างเป็นระบบสม่ำเสมอ 3) กำหนดรูปแบบเอกสารที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลตามมาตรฐานการประกันคุณภาพ 4) กำหนดวัตถุประสงค์ของการทำงานระบบประกันคุณภาพชัดเจน 5) มีการรวบรวมข้อเสนอแนะของการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามมาเป็นข้อมูลในการวางแผนการดำเนินงาน 6) โรงเรียนมีการวางแผนระบบประกันคุณภาพการศึกษาที่ชัดเจน 7) มีการสร้างความตระหนักและให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประกันคุณภาพ 8) โรงเรียนเปิดโอกาสให้ท่านมีส่วนร่วมในการวางแผนระบบประกันคุณภาพ ด้านการตรวจสอบคุณภาพ (Quality Audit) โดยภาพรวมมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลางโดยประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยระดับการปฏิบัติต่ำคือ 1) ส่งเสริมการอบรมศึกษาดูงานเพื่อหาข้อมูลมาปรับปรุงพัฒนางาน 2) กำหนดเกณฑ์และตัวชี้วัดคุณภาพแต่ละมาตรฐานที่ชัดเจน 3) มีการสำรวจความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมของโรงเรียน 4) มีการทำรายงานสรุปผลการดำเนินกิจกรรมทุกโครงการ 5) มีการจัดเก็บเอกสารตามมาตรฐานการประเมินคุณภาพเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ด้านการประเมินคุณภาพ (Quality Assessment) โดยภาพรวมมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง โดยประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยระดับการปฏิบัติต่ำคือ 1) มีการเทียบเคียงผลการปฏิบัติงานในปีปัจจุบันกับปีที่ผ่านมา 2) นักเรียนได้รับการสนับสนุนให้เข้ารับการแข่งขันทดสอบด้านทักษะวิชาการจากหน่วยงานภายนอก 3) ระบบจัดเก็บเอกสารง่ายต่อการสืบค้นอ้างอิง 4) มีผู้มาศึกษาดูงานสถานศึกษาแล้วให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนา 5) นำข้อเสนอแนะจากการประเมินของหน่วยงานต้นสังกัดมาเป็นแนวทางพัฒนา
ผลการวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 2 รูปแบบการพัฒนาการบริหารจัดการระบบประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวัดเขาเชิงเทียนเทพาราม ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลและผ่านการประเมินความเป็นไปได้ในการใช้รูปแบบ ดำเนินการโดยการสนทนากลุ่มและประเมินความเหมาะสมโดยผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วยขั้นตอนการบริหารจัดการตามรูปแบบ INSPIRES Model 8 -ขั้นตอน ดังนี้ 1) ข้อมูลสารสนเทศ (Information) 2) เครือข่ายร่วมพัฒนา (Network Development) 3) การจัดระบบงาน (Setting System) 4) การวางแผน (Planning) 5) การบูรณาการ (Integration) 6) ทบทวนการดำเนินงาน (Review Implementation) 7) การประเมินผล (Evaluation) 8) ความยั่งยืน (Sustainability)
ผลการวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 3 ผลการพัฒนาโดยใช้รูปแบบการพัฒนาการบริหารจัดการระบบประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวัดเขาเชิงเทียนเทพาราม พบว่าผลการพัฒนาโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านการจัดทำและวางแผนโดยภาพรวมมีผลการพัฒนาอยู่ในระดับมาก โดยประเด็นที่มีผลการพัฒนามากที่สุด ได้แก่ 1) โรงเรียนมีโครงการพัฒนาระบบประกันคุณภาพอยู่ในแผนปฏิบัติการประจำปี 2) โรงเรียนมีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการระบบประกันคุณภาพที่ครอบคลุมทุกมาตรฐาน 3) โรงเรียนมีการประชุมระดมความคิดเพื่อวางแผนดำเนินการระบบประกันคุณภาพ 4) กิจกรรมของระบบประกันคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานและตัวบ่งชี้การประกัน 5) มีเกณฑ์การประเมินผลการพัฒนาที่ชัดเจน ด้านการลงมือปฏิบัติ โดยภาพรวมมีผลการพัฒนาอยู่ในระดับมากที่สุดโดยประเด็นที่มีผลการพัฒนามากที่สุดได้แก่ 1) โรงเรียนมีเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาคุณภาพ 2) หลังดำเนินกิจกรรมทุกครั้งมีการสรุปผลการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานการประกันคุณภาพ 3) ผู้รับผิดชอบมาตรฐานแต่ละด้านจัดกิจกรรมตามปฏิทินการปฏิบัติงาน 4) บุคลากรทำงานระบบประกันคุณภาพเป็นคู่ขนานกับงานการจัดการเรียนการสอนปกติ 5) มีการเสริมแรงทางบวกเพื่อให้เกิดกำลังใจ ในการพัฒนางาน 6) ผู้บริหารร่วมให้คำแนะนำและแก้ปัญหาการทำงาน ด้านการตรวจสอบประเมินผล โดยภาพรวมมีผลการพัฒนาอยู่ในระดับมากที่สุด โดยประเด็นที่มีผลการพัฒนา มากที่สุดได้แก่ 1) บุคลากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการทำงานในแต่ละมาตรฐานเสมอ 2) ผู้บริหารตรวจสอบข้อมูลระบบประกันคุณภาพให้เป็นปัจจุบัน 3) จัดทำแฟ้มสะสมผลงานเพื่อรายงานผลการจัดกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการประจำปีอย่างเป็นระบบ 4) มีการประเมินและรายงานผลการจัดกิจกรรมตามมาตรฐานการประกันคุณภาพทุกกิจกรรม 5) ท่านสามารถสืบค้นข้อมูลระบบประกันคุณภาพได้จากระบบฐานข้อมูลของโรงเรียน 6) โรงเรียนมีการนิเทศ กำกับ ติดตามระบบประกันคุณภาพสม่ำเสมอ ด้านการนำผลการประเมินย้อนกลับไปปรับปรุงแก้ไขการทำงาน โดยภาพรวมมีผลการพัฒนาอยู่ในระดับมากที่สุด โดยประเด็นที่มีผลการพัฒนามากที่สุดได้แก่ 1) ผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ดีกว่าผลการประเมินรอบสาม 2) ปรับปรุงระบบประกันคุณภาพตามข้อเสนอแนะการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม 3) นักเรียน ผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องพอใจกับคุณภาพของโรงเรียน 4) นักเรียนได้รับการพัฒนาศักยภาพจากการพัฒนาระบบประกันคุณภาพ 5) มีหน่วยงานมาศึกษาดูงานการพัฒนามาตรฐานของโรงเรียน
ผลการวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 4 ความพึงพอใจในผลการพัฒนาโดยใช้รูปแบบการพัฒนาการบริหารจัดการระบบประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวัดเขาเชิงเทียนเทพาราม พบว่า ผลความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุดและเมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านผลการจัดการศึกษา โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดโดยมีความพึงพอใจมากที่สุดในประเด็น 1) โรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสร้างสรรค์และมีคุณภาพขึ้น 2) นักเรียนมีสุขภาพ พลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงเหมาะสมกับวัย 3) นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นที่น่าพอใจ และ 4) นักเรียนกล้าแสดงออกในสิ่งที่สร้างสรรค์ ด้านการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีความพึงพอใจมากที่สุดในประเด็น 1) นักเรียนมีแฟ้มสะสมผลงานจากการเรียน 2) ครูมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนให้เด็กมีความรู้ 3) โรงเรียนมีระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย 4) นักเรียนมีความสุขที่ได้มาเรียนที่โรงเรียน 5) ครูจัดกิจกรรมเสริมให้นักเรียนเรียนรู้อย่างสนุกสนาน และ 6) นักเรียนมีแฟ้มสะสมผลงานจาก การเรียน ด้านการบริหารจัดการศึกษา โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีความพึงพอใจมากที่สุดในประเด็น 1) ผู้บริหารมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการสถานศึกษา 2) โรงเรียนพัฒนาจนสามารถเป็นแบบอย่างได้ 3) ผู้บริหารสามารถเข้ากับชุมชนได้เป็นอย่างดี และ 4) โรงเรียนพัฒนาไปในทุก ๆด้านอย่างน่าพอใจ ด้านการประกันคุณภาพภายในโดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดโดยมีความพึงพอใจมากที่สุดในประเด็น 1) โรงเรียนผ่านการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ในระดับคุณภาพดีและดีเลิศทุกมาตรฐาน 2) ผลการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษาจากหน่วยงานต้นสังกัดอยู่ในระดับดีและดีเลิศ 3) โรงเรียนมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา และ 4) โรงเรียนพัฒนางานได้ประสบผลสำเร็จตามแผนพัฒนาคุณภาพ