ประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเพื่อพัฒนาคุณลักษณะฯ
ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบางเหรียง อำเภอพระแสง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 3
ผู้รายงาน นางฐิติภรณ์ สุทธิ์รัตน์
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบางเหรียง
หน่วยงานที่สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 3
ปีการศึกษา 2563
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบางเหรียง อำเภอพระแสง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 3 ในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต และด้านผลกระทบ ในการดำเนินงานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบางเหรียง ประชากรที่ใช้ในการศึกษาคือบุคคลที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้าน บางเหรียง อำเภอพระแสง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 3 ปีการศึกษา 2563 ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานศึกษา 1 คน ครูผู้สอน 17 คน นักเรียน 198 คน ผู้ปกครองนักเรียน 157 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 7 คน รวมทั้งสิ้น 380 คน โดยสุ่มจากจำนวนประชากรด้วยวิธีสุ่มอย่างง่ายเทียบจากตารางการกำหนดค่าของ Krejcie and Morgan จำนวน 191 คน โดยสุ่มแบบเจาะจงจากผู้ปกครองนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับของลิเคิร์ท ซึ่งผู้รายงานได้จัดสร้างขึ้นโดยผ่านการตรวจพิจารณาหาความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้างและเชิงเนื้อหา จากผู้เชี่ยวชาญ ของแบบประเมินจำนวน 2 ชุด ซึ่งแบบประเมินชุดที่ 1 เกี่ยวกับการประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า และด้านกระบวนการ จำนวน 40 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นแอลฟา 0.98 แบบประเมินชุดที่ 2 ด้านผลผลิต และด้านผลกระทบ จำนวน 40 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นแอลฟา 0.96 การจัดเก็บข้อมูล ผู้รายงานดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเองโดยกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บ โดยแจกแบบประเมิน จำนวน 191 ฉบับ แบบประเมินที่ได้รับคืนมาจำนวน 191 ฉบับ ซึ่งมีความสมบูรณ์ ทั้ง 191 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 100 แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยสถิติค่าเฉลี่ย (¯X) ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการศึกษาพบว่า
จากการประเมินโครงการส่งเริมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านบางเหรียง อำเภอพระแสง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 3 ผลการประเมินพบว่า ตัวชี้วัดทุกตัว ประเด็นการประเมินทุกประเด็น และภาพรวมของโครงการผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งหมด คือ
1. ด้านบริบทของโครงการอยู่ในระดับมากและผลของตัวชี้วัด 3 ตัวชี้วัด มีดังนี้
1.1 ความต้องการและความจำเป็นในการจัดทำโครงการอยู่ในระดับมาก
1.2 ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์กับกิจกรรมในโครงการอยู่ในระดับมาก
1.3 ความชัดเจนของเป้าหมายและองค์ประกอบของโครงการอยู่ในระดับมาก
2. ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการอยู่ในระดับมากและผลของตัวชี้วัด 4 ตัวชี้วัด มีดังนี้
2.1 บุคลากรในการดำเนินโครงการอยู่ในระดับมาก
2.2 งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการอยู่ในระดับมาก
2.3 สื่อ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินโครงการอยู่ในระดับมาก
2.4 รูปแบบการจัดกิจกรรมในโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด
3. ด้านกระบวนการของโครงการอยู่ในระดับมากและผลของตัวชี้วัด 3 ตัวชี้วัด มีดังนี้
3.1 การบริหารจัดการโครงการอยู่ในระดับมาก
3.2 กระบวนการจัดกิจกรรมอยู่ในระดับมาก
3.3 การนิเทศ กำกับ ติดตามอยู่ในระดับมาก
4. ด้านผลผลิตของโครงการอยู่ในระดับมาก และผลของตัวชี้วัด 3 ตัวชี้วัด มีดังนี้
4.1 นักเรียนมีพฤติกรรมด้านการเรียนรู้อยู่ในระดับมากที่สุด
4.2 นักเรียนมีพฤติกรรมด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์อยู่ในระดับมาก
4.3 นักเรียนมีพฤติกรรมด้านการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอยู่ในระดับมาก
5. ด้านผลกระทบของโครงการอยู่ในระดับมากและผลของตัวชี้วัด 4 ตัวชี้วัด มีดังนี้
5.1 ความพึงพอใจของผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนที่มีต่อผลการจัดโครงการคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนอยู่ในระดับมาก
5.2 ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อผลการจัดโครงการคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนอยู่ในระดับมาก
5.3 ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อผลการจัดโครงการคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนอยู่ในระดับมาก
5.4 ความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีต่อผลการจัดโครงการคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนอยู่ในระดับมาก
จากผลการประเมินตัวชี้วัดและประเด็นการประเมินดังกล่าวทำให้ผลการประเมินโครงการในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
ข้อเสนอแนะ
1. ควรมีการประเมินโครงการระดับงานหรือกลุ่มงานย่อยของโรงเรียนทุกโครงการโดยประยุกต์ใช้รูปแบบอื่นที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของข้อมูลสารสนเทศที่ต้องการ
2. ผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ควรสนับสนุนให้ครู ผู้ปกครองและชุมชน มีความรู้ความเข้าใจเรื่องคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดขึ้นในครอบครัวชุมชน และสังคม
3. ควรมีการศึกษาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานแบบยั่งยืน ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานสำหรับโรงเรียนต่อไป
4. ควรดำเนินการโครงการนี้ต่อไปเพราะเป็นโครงการที่สามารถพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานและมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน
5. ควรมีการศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งเสริมและปัจจัยที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการคุณธรรมจริยธรรม เช่น ปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ปัจจัยเกี่ยวกับชุมชน ปัจจัยเกี่ยวกับโรงเรียน เพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนาการดำเนินงานตามโครงการต่อไป