สภาพปัญหาและแนวทางแก้ปัญหางานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
ชื่อผู้วิจัย นางสมศรี รัตนศรี
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ1)ศึกษาสภาพปัญหาการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนชุมชนวัดจงโก มิตรภาพที่ 157 2) เปรียบเทียบทัศนะของคณะครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียน เกี่ยวกับสภาพสภาพปัญหาการดำเนินงานระบบการดูแลนักเรียนโรงเรียนชุมชนวัดจงโก มิตรภาพที่ 157 และ 3) ศึกษาแนวทางแก้ปัญหาและข้อเสนอแนะ ในการดำเนินงานระบบการดูช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนชุมชนวัดจงโก มิตรภาพที่ 157 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ คณะครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียนโรงเรียนชุมชนวัดจงโก มิตรภาพที่ 157 ปีการศึกษา 2562 ในการวิจัยครั้งนี้ ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 220 คน จากการใช้ตารางสำเร็จรูปหาขนาดของกลุ่มตัวอย่างของ เครซี่และมอร์แกรน จำแนกเป็นคณะครู จำนวน 12 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 6 คน ผู้ปกครอง จำนวน 101 คน และนักเรียน จำนวน 101 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามแบบมาตรประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 4 ฉบับ เกี่ยวกับการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ใน 5 ด้าน มีค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.707, 0.702 , 0.798 และ 0.732 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (one way ANOVA) และการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยรายคู่ ตามวิธีการของเชฟเฟ่ (Scheffe’s method)
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพปัญหาการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนชุมชนวัดจงโก มิตรภาพที่ 157 โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณารายด้านพบว่ามีสภาพปัญหาอยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ดังนี้ ด้านการส่งเสริมและพัฒนานักเรียน ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียน ด้านการคัดกรองนักเรียน ด้านการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล และด้านการส่งต่อ
2. การเปรียบเทียบสภาพปัญหาการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนชุมชนวัดจงโก มิตรภาพ157ตามทัศนะของคณะครูกับผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษากับผู้ปกครองและนักเรียน ผู้ปกครองกับนักเรียน มีทัศนะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05
3. ข้อเสนอแนะ แนวทางแก้ปัญหา ได้แก่ 1) ด้านการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล โรงเรียนควรออกเยี่ยมบ้านนักเรียนให้ครบทุกคนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง มีการจัดเก็บข้อมูลนักเรียนในระเบียนสะสมครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน มีการประสานกับผู้ปกครองอย่างหลายช่องทาง และเข้าใจสภาพปัญหาและรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียน 2) ด้านการคัดกรองนักเรียน จัดประชุมผู้ปกครอง คณะครู และนักเรียนเกี่ยวกับการคัดกรองนักเรียน เพื่อ สร้างความเข้าใจแนวทางในการปฏิบัติของโรงเรียน และหาทางช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างเหมาะสม ครูประจำชั้นหรือครูแนะแนวควรมีข้อมูลนักเรียนครอบคลุมทุกด้านและสามารถแบ่งกลุ่มนักเรียนได้ชัดเจน พร้อมทั้งช่วยเหลือดูแลนักเรียนกลุ่มที่มีปัญหาอย่างทั่วถึง รับฟังความคิดเห็นหรือปัญหาต่าง ๆ และมีการประสานงานที่ดีระหว่างผู้ปกครองกับนักเรียนในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน 3) ด้านการส่งเสริมและพัฒนานักเรียน โรงเรียนควรจัดกิจกรรมส่งเสริมช่วยเหลือนักเรียนยากจนให้สามารถหารายได้ระหว่างเรียน หรือมีทักษะในการสร้างอาชีพในอนาคตได้อย่างหลากหลาย น่าสนใจ เปิดโอกาสให้คณะกรรมการสถานศึกษาได้เข้าร่วมประชุมผู้ปกครองชั้นเรียนเพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนานักเรียนร่วมกันกับโรงเรียน และควรจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการจัดกิจกรรม ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติโดยมีสนับสนุนงบประมาณ จัดหาวัสดุ อุปกรณ์หรือในการดำเนินกิจกรรมตามที่นักเรียนสนใจอย่างเพียงพอ เช่น กิจกรรมชุมนุมต่าง ๆ 4) ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียน โรงเรียนควรจัดหาทุนการศึกษา หรือจัดกิจกรรม ช่วยเหลือนักเรียนที่ยากจนหรือด้อยโอกาส ส่งเสริมอาชีพเพื่อหารายได้ระหว่างเรียน นักเรียนมีความรู้ทั้งด้านวิชาการและประสบการณ์ด้านงานอาชีพ มีทักษะกระบวนการคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนแบบมีส่วนร่วม ของคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองนักเรียน และผู้เกี่ยวข้อง เช่นกิจกรรมตลาดนัดพอเพียง กิจกรรมค่ายคุณธรรม เป็นต้น ครูประจำชั้น/ครูแนะแนวควรทำให้นักเรียนรู้สึกไว้วางใจ เข้าถึงปัญหาและช่วยแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียนได้อย่างเหมาะสมตามสภาพปัญหา มีการประสานความร่วมมือกับผู้ปกครองทุกครั้งที่พบว่านักเรียนมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เพื่อหาทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาร่วมกัน และ 5) ด้านการส่งต่อนักเรียน คือ โรงเรียนควรแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการส่งต่ออย่างชัดเจนทั้งส่งต่อภายในและส่งต่อภายนอก มีการประชุมกับผู้เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานที่จะส่งต่อ เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาหรือกลุ่มเสี่ยง หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันได้อย่างเหมาะสม และกรณีส่งต่อภายนอกโรงเรียนหรือครูประจำชั้นควรอำนวยความสะดวกในการแก้ไขปัญหา ประสานกับผู้ปกครองอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเข้าใจนักเรียน มีการกำกับ ติดตาม ช่วยเหลือนักเรียน ตลอดการดำเนินกิจกรรมในการส่งต่อรวมทั้งติดตามดูแลพฤติกรรมนักเรียนร่วมกับผู้ปกครองหลังการส่งต่อ เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจให้แก่นักเรียนจนกว่าจะแก้ไขปัญหาได้