รายงานการดำเนินงานโครงการเกษตรพอเพียง โรงเรียนบ้านผาลาด
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูนเขต 2 ปีการศึกษา 2563
ผู้รายงาน นายปฏิญาณ บุญมา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านผาลาด
ปีที่รายงาน 2563
บทคัดย่อ
รายงานฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานการดำเนินงานโครงการเกษตรพอเพียง โรงเรียนบ้านผาลาด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูนเขต 2 ปีการศึกษา 2563 โดยรายงาน ผลการดำเนินงานโครงการเกษตรพอเพียง วิธีการและผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง ความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการเกษตรพอเพียง ด้านวิชาการ ด้านบุคลากร ด้านโรงเรียน และด้าน การเป็นแบบอย่างในการจัดการศึกษา เพื่อศึกษากระบวนการ จัดกิจกรรมการเรียนรู้เกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามระบบควบคุมคุณภาพ PDCA ด้าน การวางแผน การปฏิบัติตามแผน การตรวจสอบผลการปฏิบัติ การปรับปรุงและพัฒนา ตลอดจนศึกษาความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการเกษตรพอเพียง ของครูผู้สอน นักเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและกรรมการที่ปรึกษาของโรงเรียน
ประชากรที่ใช้ในครั้งนี้ จำนวน 223 คน ซึ่งประกอบด้วย ครูผู้สอน จำนวน 11 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 111 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 92 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและกรรมการที่ปรึกษาของโรงเรียน จำนวน 9 คน เครื่องมือที่ใช้ เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) ของลิเคอร์ท ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Microsoft office excel เพื่อหาค่าสถิติพื้นฐานได้แก่ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล โดยการบรรยายประกอบตาราง
ผลการดำเนินงานตามกิจกรรมพบว่า ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามแนวปฏิรูปโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ นักเรียนเกิดกระบวนการ ในการเรียนรู้ มีความกระตือรือร้นใฝ่รู้ใฝ่เรียน ครูจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายทั้งจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ตลอดจนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง อีกทั้ง ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง จากผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กรรมการที่ปรึกษาของโรงเรียน และชุมชนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละกิจกรรม
ผลสำเร็จจากการจัดกิจกรรมตามโครงการเกษตรพอเพียง ใน 4 ด้านคือ ด้านวิชาการ ด้านบุคลากร ด้านโรงเรียน และด้านการเป็นแบบอย่าง ในการจัดการศึกษา พบว่า นักเรียน ครู และโรงเรียนได้รับรางวัล และการยกย่องชมเชยจากสถาบันและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับเครือข่ายระดับเขตพื้นที่ ระดับจังหวัด และจากองค์กรต่างๆ เป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมงาน สถานศึกษาใกล้เคียง ผู้บังคับบัญชา และชุมชน ที่มาศึกษาดูงาน
ด้านกระบวนการดำเนินงานโครงการเกษตรพอเพียง ตามระบบการควบคุมคุณภาพ PDCAพบว่าโรงเรียนได้ดำเนินการด้านการวางแผน การปฏิบัติตามแผน การตรวจสอบผลการปฏิบัติ และการปรับปรุงและพัฒนา ในกิจกรรมทุกกิจกรรมตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นมา ซึ่งจะเห็นว่า มีการดำเนินการอยู่ในระดับมากที่สุด
ด้านความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง ต่อการดำเนินงานโครงการเกษตรพอเพียง พบว่าครูผู้สอน นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและกรรมการที่ปรึกษาของโรงเรียน มีความพึงพอใจในการดำเนินงานโครงการเกษตรพอเพียง ในระดับมากที่สุด