การดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในโดยใช้แนวคิด แบบ OKRs
ผู้ทำวิจัย นางผุสดี สุวรรณบุบผา
ปี พ.ศ. 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในโรงเรียนบึงพญาปราบ โดยใช้แนวคิดแบบ OKRs : Objective and Key Results โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะการสร้าง OKRs : Objective and Key Results ระยะดำเนินงาน และระยะประเมินผล ผู้ให้ข้อมูล จำนวน 16 คน ได้แก่ ผู้บริหาร ครู กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนบึงพญาปราบ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวมรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกการสร้าง OKRs : Objective and Key Results แบบบันทึกผลการดำเนินงาน และแบบประเมินผลการประกันคุณภาพภายใน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลโดยข้อมูลที่ได้จากแบบบันทึกด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) แล้วนำเสนอแบบพรรณนาความ และวิเคราะห์แบบประเมินโดยนำระดับคะแนนที่ได้มาคำนวณหาค่าคะแนนซึ่งเป็นค่าแนนที่มีค่าไม่เกิน 1 แล้วแปลผลระดับมาตรฐานการประเมินผล OKRs (Objective and Key Results)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ระยะการสร้าง OKRs : Objective and Key Results พบว่า ผู้บริหาร ครู และคณะกรรมการสานศึกษา มีความรู้ความเข้าใจ และสร้าง OKRs : Objective and Key Results เกี่ยวกับการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในโรงเรียนบึงพญาปราบได้ โดยยึดตามแนวทาง การดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาเป็นไปตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561
2. ระยะการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในโรงเรียนบึงพญาปราบโดยใช้แนวคิดแบบ OKRs : Objective and Key Results พบว่า การดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในโรงเรียนบึงพญาปราบโดยใช้แนวคิดแบบ OKRs : Objective and Key Results ส่งผลให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการที่ดีสมวัย ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสติปัญญา ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการสูงขึ้น และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่สถานศึกษากำหนด ครูสามารถจัดประสบการณ์ให้เด็กมีพัฒนาการทุกด้านอย่างสมดุล เต็มศักยภาพ และสร้างโอกาสให้เด็กทุกคนได้รับประสบการณ์ตรงจากการเล่นและลงมือปฏิบัติ และครูมีกระบวนการจัดการเรียนการสอน ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามมาตรฐานและตัวชี้วัดของหลักสูตรสถานศึกษา สร้างโอกาสให้ผู้เรียน มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดและปฏิบัติจริง บริหารจัดการชั้นเรียนเชิงบวก วัดผลประเมินผลที่หลากหลายอย่างเป็นระบบ ตามสภาพจริง โรงเรียนมีการจัดการระบบบริหารและจัดการคุณภาพของสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เน้นคุณภาพผู้เรียน คุณภาพครู รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ สร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพการจัดการศึกษา
3. ระยะประเมินผลการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในโรงเรียนบึงพญาปราบโดยใช้แนวคิดแบบ OKRs : Objective and Key Results พบว่า มาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัย มีผลการประเมินโดยรวมอยู่ระดับเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งมีค่าคะแนนเท่ากับ 0.9 คือ มาตรฐานที่ 2 กระบวนการบริหารและการจัดการ และมาตรฐานที่ 3 การจัดประสบการณ์ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ และมีผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับตามเกณฑ์มาตรฐาน มีค่าคะแนนเท่ากับ 0.7 คือ มาตรฐานที่ 1 คุณภาพเด็ก ส่วนมาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีผลการประเมินโดยรวมอยู่ระดับเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งมีค่าคะแนนเท่ากับ 0.9 และ 0.8 คือ มาตรฐานที่ 2 กระบวนการบริหารและการจัดการ และมาตรฐานที่ 3 กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามลำดับ และมีผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับตามเกณฑ์มาตรฐาน มีค่าคะแนนเท่ากับ 0.7 คือ มาตรฐานที่ 1 คุณภาพของผู้เรียน