การประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน
ยั่งยืน โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา
ผู้ศึกษา วสันต์ จุลพล
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ของการประเมิน 1) เพื่อประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสืบสานพระราชปณิธานการทำความดีด้วยหัวใจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา และ 2) เพื่อศึกษาหาแนวทางการปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของโครงการเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสืบสานพระราชปณิธานการทำความดีด้วยหัวใจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา ดำเนินการประเมินในปีการศึกษา 2562 โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์โมเดล (CIPP Model) ที่มุ่งประเมิน 4 ด้าน ได้แก่ 1) การประเมินด้านบริบท (Context Evaluation : C) 2) การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation : I) 3) การประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation : P) และ 4) การประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation : P) แบ่งเป็น การประเมินผลการดำเนินงาน (Output Evaluation) และการประเมินผลกระทบ (Impact Evaluation) ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ ตอนที่ 1 การประเมินโครงการ ผู้ให้ข้อมูลที่เป็นประชากร คือ ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และครูผู้รับผิดชอบโครงการ รวมทั้งสิ้น 19 คน ผู้ให้ข้อมูลที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง คือ คณะครู และครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมตามโครงการ รวมทั้งสิ้น 90 คน ครูประจำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และครูประจำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งสิ้น 22 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งสิ้น 250 คน ตอนที่ 2 การหาแนวทางการปฏิบัติที่ดี (Best Practice) จากการสนทนากลุ่ม (Focus Group) ผู้ให้ข้อมูล คือ ผู้อำนวยการโรงเรียน ตัวแทนคณะครู ตัวแทนคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้รับผิดชอบโครงการ และตัวแทนผู้ปกครองนักเรียน รวมทั้งสิ้น 17 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล มีจำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ แบบสอบถาม จำนวน 5 ฉบับ และแบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาแนวทางการปฏิบัติที่ดี (Best Practice) จำนวน 1 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการประเมินแบ่งออกเป็น 2 ตอน ดังนี้
ตอนที่ 1 ผลการประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสืบสานพระราชปณิธานการทำความดีด้วยหัวใจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา โดยใช้การประเมินแบบซิปป์โมเดล (CIPP Model) จำแนกตามลักษณะการประเมิน ดังนี้
1.1 ผลการประเมินด้านบริบท (Context Evaluation : C) พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุดและผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน โดยด้านความคาดหวังผลที่เกิดขึ้นตามเป้าหมายของโครงการ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ ด้านความต้องการของโครงการ ด้านความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ของโครงการ และด้านความจำเป็นของโครงการ ตามลำดับ
1.2 ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation : I) พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน โดยด้านการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ ด้านบุคลากร ด้านงบประมาณ และด้านคุณสมบัติของนักเรียน ตามลำดับ
1.3 ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation : P) พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุดและผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน โดยด้านรูปแบบการจัดกิจกรรมตามโครงการส่งเสริมให้นักเรียนมีคุณลักษณะอยู่อย่างพอเพียง มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ในขณะที่ ด้านการวางแผนการนิเทศติดตามผลการดำเนินงานกิจกรรมต่าง ๆ ตามโครงการ มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
1.4 ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation : P) พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน ทั้งด้านการประเมินผลการดำเนินงาน (Output Evaluation) และด้านการประเมินผลกระทบ (Impact Evaluation) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการประเมิน ผลการดำเนินงาน (Output Evaluation) กิจกรรมที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ กิจกรรมส่งเสริมสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประเพณี วัฒนธรรม และกิจกรรมที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ กิจกรรมงานอนามัยและห้องพยาบาล ในขณะที่ด้านการประเมินผลกระทบ (Impact Evaluation) ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ด้านสิ่งแวดล้อม รองลงมา คือ ด้านสังคม ด้านวัตถุ และด้านวัฒนธรรม ตามลำดับ
ตอนที่ 2 ผลการหาแนวทางการปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของโครงการเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสืบสานพระราชปณิธานการทำความดีด้วยหัวใจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา จำแนกรายด้าน ดังนี้
2.1 ด้านบริบท (Context Evaluation : C) พบว่า เป็นโครงการที่มีความสำคัญจำเป็น เป้าหมายของโครงการตอบสนองต่อความต้องการของทุกภาคส่วน บุคลากรของโรงเรียนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีความตระหนักถึงความสำคัญของโครงการและมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติงาน
2.2 ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation : I) พบว่า วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณ และระยะเวลา มีความเหมาะสม เพียงพอ ขณะที่ด้านบุคลากร มีความตระหนักถึงความสำคัญของโครงการ และมีความรู้ความสามารถ
2.3 ด้านกระบวนการ (Process Evaluation : P) พบว่า เป็นการบริหารเชิงกลยุทธ์และยึดหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีการประชุมวางแผนและดำเนินการตามแผนที่วางไว้ มีการตรวจสอบ สรุปปัญหา ประเมินและสรุปผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
2.4 ด้านผลผลิต (Product Evaluation : P) ด้านผลการดำเนินงาน พบว่า เป็นไปตาม
วัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ ทั้ง 8 กิจกรรม ซึ่งผลการดำเนินกิจกรรมส่งผลให้นักเรียน
มีความสำนึกในความเป็นชาติไทย ตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจ และปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้านผลกระทบ พบว่า หลังการดำเนินงานโครงการ นักเรียนส่วนใหญ่มีคุณลักษณะอยู่อย่างพอเพียง ทั้งในด้านวัตถุ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เกิดการพัฒนาตนเองอย่างสมดุล สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคม