คุณภาพการบริการของงานคุรุสภาในสำนักงานศึกษาธิการ จ.สมุทรปราการ
ชื่อผู้วิจัย ษิญาดา แก้วสดแสง
ปีที่วิจัย 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความคาดหวังและการรับรู้ของผู้รับบริการที่มีต่อคุณภาพการบริการของงานคุรุสภาในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรปราการ 2) เปรียบเทียบความคาดหวังและการรับรู้ของผู้รับบริการที่มีต่อคุณภาพการบริการของงานคุรุสภาในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรปราการ และ 3) เพื่อทราบแนวทางการพัฒนาคุณภาพการบริการของงานคุรุสภาในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรปราการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้รับบริการที่มาติดต่องานคุรุสภาในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 250 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ โดยใช้แบบจำลอง SERVQUAL มาปรับใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินคุณภาพการบริการ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสถิติ Paired Sample T-test
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผู้รับบริการมีระดับความคาดหวังมากกว่าการรับรู้จากบริการที่ได้รับจริงเกือบทุกด้าน แสดงว่า ผู้รับบริการไม่พึงพอใจต่อคุณภาพการบริการของงานคุรุสภาในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรปราการในภาพรวม โดยเรียงตามลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ ด้านความเป็นรูปธรรมของบริการ ด้านการตอบสนองต่อผู้รับบริการ ด้านความเชื่อถือไว้วางใจ และด้านการเอาใจใส่ต่อผู้รับบริการ แต่ในด้านการให้ความเชื่อมั่นต่อผู้รับบริการ ผู้รับบริการมีความพึงพอใจมาก
2. เปรียบเทียบความแตกต่างของระดับความคาดหวังและระดับการรับรู้ต่อคุณภาพการบริการของงานคุรุสภาในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรปราการในภาพรวม พบว่า แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านความเป็นรูปธรรมของบริการ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และด้านการตอบสนองต่อผู้รับบริการ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่ในด้านความเชื่อถือไว้วางใจ ด้านการให้ความเชื่อมั่นต่อผู้รับบริการ และด้านการเอาใจใส่ต่อผู้รับบริการ ไม่แตกต่างกัน
3. แนวทางการพัฒนาคุณภาพการบริการของงานคุรุสภาในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรปราการ
3.1 ด้านความเป็นรูปธรรมของบริการ ควรจัดหาและให้บริการเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตไร้สาย (Wifi) ควรมีจุดให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ค สำหรับสมัคร Ksp Self-service หรือใช้บริการออนไลน์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับงานคุรุสภา และควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่ให้บริการอย่างเพียงพอ
3.2 ด้านความเชื่อถือไว้วางใจ ควรมีการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับขั้นตอนและระยะเวลาในการให้บริการให้เห็นอย่างชัดเจน และปรับปรุงการให้บริการให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดหรือประกาศไว้
3.3 ด้านการตอบสนองต่อผู้รับบริการ ควรเพิ่มช่องทางการแจ้งเตือนกรณีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพใกล้หมดอายุ และควรพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้มากยิ่งขึ้น
3.4 ด้านการให้ความเชื่อมั่นต่อผู้รับบริการ ควรพัฒนาหรือจัดอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับบุคลิกภาพหรือทักษะการพูดสื่อสาร
3.5 ด้านการเอาใจใส่ต่อผู้รับบริการ ควรมีการติดตามงานใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจนกว่าจะได้รับการอนุมัติ และควรมีการติดตามแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วขึ้น