การพัฒนารูปแบบการสอน เพื่อส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
ผู้วิจัย นางสุพรรณี โพธิ์ไพร
ปีที่ทำวิจัย พ.ศ. 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการสอน เพื่อส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 2) เพื่อประเมินประสิทธิผลของรูปแบบ จาก 1) ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 2) ความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อรูปแบบการสอน เพื่อส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย กลุ่มประชากรเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/3 โรงเรียนนาข่าวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ที่กำลังเรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน ๒๐ คน ซึ่งเป็นนักเรียนเพียงห้องเดียวในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนในรายวิชาห้องสมุด (วิชาภาษาไทยเพิ่มเติม กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการสอน เพื่อส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนการจัดการเรียนรู้ แบบประเมินความสอดคล้องของรูปแบบการสอนแบบวัดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 แบบสอบถามความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที แบบไม่อิสระ และ การวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนนี้มีชื่อเรียกว่า “ICPCIRSE Model ” โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน สาระหลัก สิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ระบบสังคม หลักการตอบสนอง และสิ่งสนับสนุน รูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้นมีกระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ ๑ ขั้นนำ (Introduction stage : I), ขั้นที่ ๒ ขั้นการคิดวิจารณญาณและแก้ปัญหา (Critical thinking and Problem solving stage : CP)ประกอบด้วย ๒.๑) วิเคราะห์เชิงระบบ (Systematic analysis) ๒.๒) วิเคราะห์เชิงโต้แย้ง (Argumentative analysis) และ ๒.๓) สร้างสรรค์ทางเลือก (Creative choice), ขั้นที่ ๓ ขั้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Creativity and Innovation stage : CI) ประกอบด้วย 3.1) เตรียมการ (Prepare), 3.2) จินตนาการ (Imagine), 3.3) การพัฒนา (Development), 3.4) การปฏิบัติ (Implementation), ขั้นที่ ๔ สะท้อนผล และ สรุป (Reflect and Summary stage : RS), ขั้นที่ ๕ วัดผลและประเมินผล (Assessment and Evaluation stage : E) ค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) ของรูปแบบการเรียนการสอน เท่ากับ 82.41/83.27 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ 80/80 ปรากฏว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. ประสิทธิผลผลของรูปแบบการสอน เพื่อส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยแบ่งเป็น
2.1 ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2.2 ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยนักเรียนพึงพอใจต่อการสอนด้วยรูปแบบสอนด้านกิจกรรมการเรียนการสอนอยู่ในระดับมากที่สุด เพราะผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์และแสวงหาข้อมูลจากแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย ผู้เรียนเรียนรู้จากการปฏิบัติด้วยตนเองและร่วมกันเรียนรู้กับผู้อื่น ครูเรียงเนื้อหาและกิจกรรมได้อย่างเหมาะสมและนักเรียนสามารถสรุปความรู้ เชื่อมโยงนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้