การพัฒนารูปแบบการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาฯ
1. ข้อมูลพื้นฐานการพัฒนารูปแบบการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาทักษะวิชาชีพของผู้เรียน พบว่า ปัญหาการจัดการเรียนรู้นั้นเกิดจากคุณภาพครูที่ขาดความรู้ชัดเจนในเนื้อหาและวิธีการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดความรู้เนื้อหาผนวกวิธีสอน การพัฒนาครูจึงควรพัฒนาทั้งการวางแผนการจัดการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผลในเชิงวิจัยปฏิบัติการที่คำนึงถึงทฤษฎีและแนวคิดการพัฒนาครู หลักการพัฒนาครู ขั้นตอนการพัฒนาครู และพัฒนาโดยใช้พื้นที่หรือสถานศึกษาเป็นฐาน
2. รูปแบบการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาทักษะวิชาชีพของผู้เรียน ใช้แนวคิดพื้นฐานการพัฒนา 4 ประการคือ (1) ทฤษฎีการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ (2) ทฤษฎีการสร้างความรู้ (3) ทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคมและ (4) ทฤษฎีการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ หลักการของรูปแบบมี 3 ประการ ได้แก่ (1) การพัฒนาความรู้เนื้อหาผนวกวิธีสอน (2) การเรียนรู้จากการปฏิบัติงานและ (3) การพัฒนาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาทักษะวิชาชีพของผู้เรียน ศักยภาพครูมี 4 ประการได้แก่ (1) การออกแบบการเรียนรู้ (2) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ (3) การใช้และพัฒนาสื่อการเรียนรู้และ (4) การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ กิจกรรมการพัฒนามี 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 การให้ความรู้ก่อนปฏิบัติการ (informing = I) ขั้นที่ 2 การออกแบบการเรียนรู้ (planning = P) ขั้นที่ 3 การปฏิบัติการจัดการเรียนรู้ (practice = P) ขั้นที่ 4 การสะท้อนผล (reflect = R) และขั้นที่ 5 การนิเทศแบบชี้แนะ (coaching = C) โดยใช้ชื่อว่า “IPPRC model”
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาทักษะวิชาชีพของผู้เรียนพบว่าครูมีคะแนนพัฒนาการโดย รวมสูงขึ้น
4. ผลการประเมินรูปแบบการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาทักษะวิชาชีพของผู้เรียนพบว่า (1) กลุ่มเป้าหมายมีคะแนนพัฒนาการหลังเข้าร่วมการพัฒนาสูงกว่าก่อนเข้าร่วมการพัฒนา และมีคะแนนผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 วงรอบที่ 1 จำนวน 16 คน และวงรอบที่ 2 จำนวน 3 คน (2) ความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (3) ความคิดเห็นต่อระดับการปฏิบัติชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ โดยรวมอยู่ในระดับมาก และ (4) ผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ได้แก่ คะแนนทักษะวิชาชีพสูงขึ้น มีความพึงพอใจในการเรียนรู้ มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน