รายงานการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น เรื่อง เล่าเรื่อง เมืองแก่งคอย
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้รายงาน อัจฉรีวรรณ ประดิษฐวงษ์ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาลบ้านม่วง เทศบาลเมืองแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น เรื่อง เล่าเรื่อง เมืองแก่งคอย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตร 4 ขั้นตอน คือ 1) การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน 2) การพัฒนาหลักสูตร 3) ทดลองใช้หลักสูตร 4) การประเมินผลและปรับปรุงหลักสูตรกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ห้อง 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 40 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย (simple random sampling) โดยการจับสลากห้องเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) แบบสอบถาม 2) แบบสัมภาษณ์ 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ 4) แผนการจัดการเรียนรู้ 5) แบบประเมินทักษะกระบวนการกลุ่ม 6) ประเมินความพึงพอใจต่อการเรียนตามหลักสูตรท้องถิ่น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติร้อยละ (percentage) ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าสถิติที (t - test) และการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. การศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ การสอบถาม พบว่า หลักการพัฒนาประเทศที่สำคัญโดย “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชน เพื่อพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ การมีหลักสูตรท้องถิ่นสามารถพัฒนาศักยภาพด้านความรู้ ความเข้าใจในส่วนที่เกี่ยวกับท้องถิ่นและชุมชน จะนำไปสู่ความรักและความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและสรุปความรู้ด้วยตนเอง และควรมีการปลูกฝังการทำงานเป็นกลุ่มให้กับนักเรียน
2. การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นฉบับร่าง ประกอบด้วย หลักการ จุดหมาย จุดประสงค์รายวิชา โครงสร้างรายวิชา คำอธิบายรายวิชา แนวทางการจัดการเรียนรู้ สื่อ/แหล่งเรียนรู้ การวัดผลประเมินผล และเอกสารประกอบการสอนหลักสูตรท้องถิ่น จำนวน 18 แผนการจัดการเรียนรู้ ผู้เชี่ยวชาญประเมินหลักสูตรท้องถิ่น พบว่า หลักสูตรท้องถิ่นมีความสอดคล้องและเหมาะสม
3. การทดลองใช้หลักสูตรท้องถิ่น กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ตามแผนการจัดการเรียนรู้ พบว่านักเรียนมีความสนใจมีส่วนร่วมในกิจกรรมรู้สึกสนุก ด้านทักษะกระบวนการกลุ่ม โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด นักเรียนสนใจการทัศนศึกษาทำให้ได้เรียนรู้จากสถานที่จริง และมีประสบการณ์ตรง ในด้านของการวัดผลและประเมินผลเป็นการวัดผลและประเมินผลตามสภาพที่แท้จริงโดยการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ ตรวจผลงาน และทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
4. ผลการประเมินและปรับปรุงหลักสูตร พบว่า คะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตามหลักสูตรท้องถิ่น เรื่อง เล่าเรื่อง เมืองแก่งคอย หลังการใช้หลักสูตรสูงกว่าก่อนการใช้หลักสูตรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนทักษะกระบวนการกลุ่มโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อหลักสูตร โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก การปรับปรุงหลักสูตรเมื่อนำหลักสูตรไปทดลองใช้พบว่า มีข้อบกพร่องที่ควรปรับปรุงแก้ไข เรื่องของระยะเวลา ให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับเนื้อหา