การพัฒนารูปแบบบริหารจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตและอาชี
ผู้วิจัย นายจีระยุทธ พุทธรักษาพิทักษ์
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
สถานที่ทำงาน โรงเรียนจระเข้วิทยายน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ในการบริหารจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตและอาชีพของนักเรียนโรงเรียนจระเข้วิทยายน 2) พัฒนารูปแบบบริหารจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตและอาชีพของนักเรียนโรงเรียนจระเข้วิทยายน และ 3) ประเมินประสิทธิผลของรูปแบบบริหารจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตและอาชีพของนักเรียนโรงเรียนจระเข้วิทยายน ใช้วิธีการวิจัยแบบผสมผสาน โดยแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง กลุ่มตัวอย่าง/กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 7 คน ครูผู้สอน จำนวน 27 คน นักเรียน จำนวน 204 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 204 คน โรงเรียนจระเข้วิทยายน ในปีการศึกษา 2562 เครื่องมือวิจัย ได้แก่ แบบประเมินกรอบแนวคิดในการวิจัย แบบสอบถามสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ และแบบประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของรูปแบบ การวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การวิเคราะห์เนื้อหา การวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐาน คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์ความต้องการจำเป็น โดยใช้การวิเคราะห์ Modified Priority Needs Index (PNI Modified) ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพปัจจุบันในการบริหารจัดการเรียนรู้โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง และส่วนสภาพที่พึงประสงค์ในการบริหารจัดการเรียนรู้โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาค่าดัชนีความต้องการจำเป็นพบว่าด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์แบบร่วมมือมีความจำเป็น มากที่สุดจากทั้งหมด 6 ด้าน
2. ผลการพัฒนารูปแบบบริหารจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตและอาชีพของนักเรียนโรงเรียนจระเข้วิทยายน พบว่า รูปแบบมีองค์ประกอบ 4 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) กระบวนการดำเนินงาน มี 6 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 นโยบายและเป้าหมายร่วม ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ขั้นตอนที่ 3 การพัฒนาสนับสนุนการเรียนรู้ ขั้นตอนที่ 4 การพัฒนากระบวนการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์แบบร่วมมือ ขั้นตอนที่ 5 การพัฒนาการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้ และขั้นตอนที่ 6 การพัฒนาการนิเทศการจัดการเรียนรู้ และ 4) การวัดและประเมินผล และรูปแบบมีความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ในการนำไปใช้โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
3. การประเมินประสิทธิผลของรูปแบบ พบว่า ค่าเฉลี่ยของทักษะชีวิตและอาชีพของนักเรียน หลังการใช้รูปแบบฯ สูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบฯ ทุกด้าน และความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด