รายงานผลการใช้ชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์
กระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่องบทประยุกต์
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ชื่อผู้ศึกษา ปุนิกา นามวิลา ตำแหน่ง ครูชำนาญการพิเศษ
ปีที่ทำการศึกษา พ.ศ. 2562
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์
ปัญหาคณิตศาสตร์โดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่องบทประยุกต์ สำหรับนักเรียนชั้น
ประถมศึกษาปีที่ 6 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดฝึกทักษะ และเพื่อศึกษาความ
พึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยชุดฝึกทักษะ ประชากรเป็นเป็นนักเรียนกำลังเรียนอยู่ใน
โรงเรียนเทศบาลตะพานหินวิทยาคาร สังกัดเทศบาลเมืองตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ชั้นประถมศึกษา
ปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 2 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 61 คน และนักเรียน
กำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนเทศบาลตะพานหินวิทยาคาร สังกัดเทศบาลเมืองตะพานหิน จังหวัดพิจิตร
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 2 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน
60 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 4 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 121 คน กลุ่มตัวอย่างเป็นเป็นนักเรียน
กำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนเทศบาลตะพานหินวิทยาคาร สังกัดเทศบาลเมืองตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 30 คน ซึ่งได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) กลุ่มนี้ได้มีการคละผู้เรียนเก่ง ปานกลาง อ่อน แล้วดำเนินการทดลองโดยใช้แบบแผนการทดลองแบบ One Group Pretest-Posttest Design เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ ชุดฝึกทักษะ จำนวน 7 เล่ม แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 20 แผน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางเรียน ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ
ซึ่งมีค่าความยากง่าย 0.37 ถึง 0.70 ค่าอำนาจจำแนกรายข้อระหว่าง 0.21 ถึง 0.59 มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.89 และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ชุดฝึกทักษะ ชนิดมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale)
5 ระดับ จำนวน 10 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
และการทดสอบสมมติฐานใช้ t-test ชนิด (Dependent Samples)
ผลการศึกษาพบว่า
ชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์โดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา
เรื่องบทประยุกต์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ 82.14/81.56
ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนด้วยแบบฝึกเสริมทักษะ สูงกว่า
ก่อนเรียนอย่างนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยชุดฝึก
ทักษะอยู่ในระดับมาก