การศึกษาความก้าวหน้าทางการเรียน
ผู้วิจัย : ว่าที่ร้อยตรีหญิง กันตนา ธรรมวรรณ์
ตำแหน่ง : ครู คศ.1
สังกัด : โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เชียงใหม่
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้ 1) เพื่อพัฒนาเอกสารประกอบการเรียน เรื่อง ฟิสิกส์อะตอม 2) เพื่อศึกษาความก้าวหน้าทางการเรียน เรื่อง ฟิสิกส์อะตอม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/1 ผ่านเอกสารประกอบการเรียน แบบแผนการวิจัยที่ใช้คือการทดลองแบบกลุ่มเดียว สอบก่อนเรียนและหลังเรียน ประชากรในการวิจัยคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ จำนวน 38 คน โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ เอกสารประกอบการเรียน แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง ฟิสิกส์อะตอม พบว่า ความก้าวหน้าทางการเรียนแบบทั้งชั้นเรียน (Class normalized gain) มีค่าอยู่ในระดับสูง ค่าเท่ากับ 0.75 ความก้าวหน้าทางการเรียนแบบรายบุคคล (Single student normalized gain) มีค่าอยู่ในระดับสูงของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคิดเป็นร้อยละ 71.05 และมีค่าอยู่ในระดับปานกลางของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคิดเป็นร้อยละ 28.95 โดยไม่มีนักเรียนที่มีความก้าวหน้าทางการเรียนอยู่ในระดับต่ำ
คำสำคัญ : ความก้าวหน้าทางการเรียน, normalized gain
ผลการหาหาความก้าวหน้าทางการเรียน :
โดยผลการหาความก้าวหน้าทางการเรียนของเอกสารประกอบการเรียน เรื่องฟิสิกส์อะตอม ที่พัฒนาขึ้น ผู้วิจัยจะแสดงผลการประเมินความก้าวหน้าทางการเรียน ดังต่อไปนี้
1) แบบ 1 ความก้าวหน้าทางการเรียนแบบทั้งชั้นเรียน (Class normalized gain)
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพื่อใช้วัดความรู้ความสามารถของนักเรียน เรื่องฟิสิกส์อะตอม เพื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคะแนนก่อนกับหลังการจัดการเรียนรู้ของประชากร ปรากฏว่าคะแนนเฉลี่ยหลังเรียน (23.39 หรือ 77.98%) สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียน (3.34 หรือ 11.17%) ดังตารางที่ 4.1 แสดงให้เห็นว่านักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ผ่านเอกสารประกอบการเรียน เรื่อง ฟิสิกส์อะตอม มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องฟิสิกส์อะตอมสูงขึ้นจริง
Class normalized gain หรือ ความก้าวหน้าทางการเรียนแบบทั้งชั้นเรียน เป็นการพิจารณาว่า ผลการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งชั้นเรียนเพิ่มขึ้นคิดเป็นกี่เท่าของผลการเรียนรู้สูงสุดที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นได้ โดยพิจารณาได้จากคะแนนเฉลี่ยของทั้งชั้น ทั้งก่อนและหลังเรียน เพื่อดูว่าผลการเรียนการสอนผ่านเอกสารประกอบการเรียน เรื่อง ฟิสิกส์อะตอม โดยภาพรวมของทั้งชั้นนั้นมีพัฒนาการขึ้นมากน้อยเพียงใด ในงานวิจัยนี้พบว่า class normalized gain มีค่าเท่ากับ 0.75 ซึ่งอยู่ในระดับ high gain
2) แบบ 2 ความก้าวหน้าทางการเรียนแบบรายบุคคล (Single student normalized gain)
พิจารณาความก้าวหน้าทางการเรียนแบบรายบุคคล พบว่านักเรียนที่มีระดับความก้าวหน้าอยู่ในระดับสูงที่สุดคือนักเรียนเลขที่ 4 และเลขที่ 23 ได้ค่า Normalized gain เท่ากับ 0.93 มีจำนวน 2 คน (ภาพที่ 4.1) ซึ่งนักเรียน 2 คนนี้เป็นคนที่ขยันเรียน มีการเตรียมตัวอ่านหนังสือล่วงหน้าก่อนเข้าชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ เมื่อทำแบบทดสอบจะทำการทบทวนคำตอบและใช้เวลาครบและมักถามครูเมื่อเกิดข้อสงสัยก็จะถามเพื่อนหรือครูทันที นักเรียนชอบทำแบบฝึกหัดทุกข้อได้อย่างถูกต้อง
ส่วนนักเรียนที่มีระดับความก้าวหน้าอยู่ในระดับต่ำที่สุดคือนักเรียนเลขที่ 24 ได้ค่า Normalized gain เท่ากับ 0.54 มีจำนวน 1 คน เป็นนักเรียนที่เข้าเรียนไม่สม่ำเสมอ เข้าห้องเรียนช้า ไม่ตั้งใจเรียน ชอบชวนเพื่อนคุยในห้องเรียน หรือหลับในห้องเรียน และทำแบบฝึกหัดที่ให้ไปไม่ครบ ไม่ศึกษาล่วงหน้าพร้อมทั้งข้อมูลในการส่งงานจะไม่ส่งหรือส่งช้า ขาดความรับผิดชอบ และคะแนนก่อนที่จะได้รับการจัดการเรียนรู้ผ่านเอกสารประกอบการเรียน เรื่องฟิสิกส์อะตอมต่ำ
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาความก้าวหน้ารายบุคคลของนักเรียนส่วนใหญ่แล้ว พบว่านักเรียน 71.05% มีความก้าวหน้าทางการเรียนอยู่ในระดับสูงและมี 28.95% ที่มีความก้าวหน้าทางการเรียนในระดับกลาง
สรุปผลการวิจัย :
ความก้าวหน้าทางการเรียนแบบทั้งชั้นเรียน (Class normalized gain) มีค่าเท่ากับ 0.75 อยู่ในระดับสูง และความก้าวหน้าทางการเรียนแบบรายบุคคล (Single student normalized gain) พบว่าจำนวนนักเรียนที่มีความก้าวหน้าทางการเรียนของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับสูงและปานกลางคิดเป็นร้อยละ 71.05 และ 28.95 ตามลำดับ โดยไม่มีนักเรียนที่มีความก้าวหน้าทางการเรียนอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงผลเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการสร้างเอกสารประกอบการเรียนในการจัดการเรียนการสอน สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ตามแนวคอนสตรัคติวิสท์ (Constructivism) ที่มีใจความว่า “การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวผู้เรียนเอง” โดยผู้เรียนเป็นผู้สร้างสรรค์ความรู้ (Construct) จากการเชื่อมโยงเหตุการณ์หรือความสัมพันธ์จากสิ่งที่พบเห็นเป็นรูปธรรมกับความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่เดิม แล้วนำมาสร้างเป็นโครงสร้างทางปัญญา (Cognitive structure) ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และเกิดแนวคิดหลักที่ถูกต้องได้เช่นเดียวกับผลการศึกษาของ Gilakjani, Leong and Ismail (2013) ที่กล่าวถึงผลการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีและทฤษฎีคอนสตรัคติวิสท์ร่วมกัน ช่วยให้การเรียนการสอนเกิดประสิทธิภาพและผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ จิราภรณ์ ปุณยวัจน์พรกุล และวิไลพร ลักษมีวาณิชย์ (2562) ได้ทำการพัฒนาแนวคิดวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคการวิเคราะห์วิดีโอความเร็วสูง กรณีศึกษาการเคลื่อนที่แบบโพรเจคไทล์ พบว่า กลุ่มทดลองที่เสริมแนวคิดวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคการวิเคราะห์ วิดีโอความเร็วสูงสามารถใช้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์อธิบายลักษณะการเคลื่อนที่แบบโพรเจคไทล์เพิ่มขึ้นจากจำนวน เฉลี่ยประมาณร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 69 มีความก้าวหน้าทางการเรียนอยู่ระหว่าง 0.24-0.95 มากกว่ากลุ่มควบคุม ที่ศึกษาอย่างอิสระนอกห้องเรียนที่พบความก้าวหน้าทางการเรียนอยู่ระหว่าง 0.06–0.75 และสอดคล้องกับ ปฐมาวดี พละศักดิ์ ที่ได้ศึกษาความก้าวหน้าทางการเรียนของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนผ่านกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ เรื่องปริมาณสารสัมพันธ์ พบว่า ความก้าวหน้าทั้งชั้นเรียนในระดับสูง ค่าเท่ากับ 0.71 ความก้าวหน้ารายบุคคลมีค่าอยู่ในระดับสูง ของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคิดเป็นร้อยละ 55.00 และมีค่าอยู่ในระดับปานกลางของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคิดเป็นร้อยละ 45.00 โดยไม่มีนักเรียนที่มีความความก้าวหน้าทางการเรียนอยู่ในระดับต่ำ และความก้าวหน้าทางการเรียนรายเนื้อหาที่มีความก้าวหน้าสูงที่สุดคือ เรื่องมวลโมเลกุลมีค่าอยู่ในระดับสูง ส่วนเรื่องการเตรียมสารละลายมีความก้าวหน้าต่ำที่สุด มีค่าอยู่ในระดับปานกลาง นักเรียนมีความเข้าใจเชิงมโนมติหลังเรียนแบบความเข้าใจสมบูรณ์มากกว่าร้อยละ 70 และมีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.34 อยู่ในระดับมาก
ข้อเสนอแนะ :
1. ในการจัดการเรียนรู้ควรมีการปรับให้เหมาะสมกับเวลาหรือการมอบหมายงานให้นักเรียนทำล่วงหน้าก่อนเข้าเรียน
2. การพัฒนาให้เอกสารประกอบการเรียนอยู่ในรูปแบบออนไลน์ และให้นักเรียนเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น