บทคัดย่อ
ผู้วิจัย : ว่าที่ ร.ต.หญิงภูริชญา ยิ้มแย้ม ตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์ วิทยฐานะ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ
สำนักการศึกษา เทศบาลเมืองชลบุรี จังหวัดเมืองชลบุรี
ปีการศึกษา : 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสร้างรูปแบบการนิเทศการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี 2) เพื่อประเมินรูปแบบการนิเทศการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี วิธีดำเนินการวิจัยในลักษณะของการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) โดยมีรายละเอียดวิธีดำเนินการวิจัยเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้ขั้นตอนที่ 1 การวิจัย (Research: R1) เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน (Analysis: A) : การศึกษาสภาพและความต้องการเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายในของโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนา (Development: D1) ออกแบบและพัฒนา (Design and Develop: D&D) เพื่อรูปแบบการนิเทศการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี ขั้นตอนที่ 3 การวิจัย (Research: R2) ทดลองใช้ (Implement: l) รูปแบบการนิเทศการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองชลบุรีและขั้นตอนที่ 4 การพัฒนา (Development: D2) ประเมินผล (Evaluation: E) รูปแบบการนิเทศการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 1) แบบสอบถามสภาพการปฏิบัติการนิเทศภายในของโรงเรียนซึ่งมีลักษณะมาตราประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 64 ข้อ 2) แบบสัมภาษณ์เกี่ยวกับการนิเทศและการประกันคุณภาพภายใน จำนวน 4 ข้อ 3) แบบประเมินคุณภาพรูปแบบการนิเทศการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี เป็นแบบสอบถามซึ่งมีลักษณะมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 20 ข้อ 4) แบบทดสอบความรู้ความเข้าใจเรื่องการนิเทศการประกันคุณภาพภายใน เป็นแบบทดสอบชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ และ 5) แบบประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการนิเทศการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี จำนวน 15 ข้อ โดยใช้สถิติค่าเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการวิจัย พบว่า 1) รูปแบบการนิเทศการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 การประชุม ร่วมศึกษาและวิเคราะห์ปัญหา (Co-searching & analyzing) ขั้นที่ 2 การอบรม ร่วมสร้างความรู้และความตระหนัก (Co- knowledge and building awareness) ร่วมกำหนดเป้าหมาย (Co-perception for targets) และ ร่วมสร้างทีมงาน (Co- building team and networks) ขั้นที่ 3 ร่วมปฏิบัติการนิเทศ (Co-Implementing) และ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Co-organizing knowledge) 2) ผลการประเมินรูปแบบการนิเทศการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี พบว่า 2.1) ประสิทธิภาพของรูปแบบการนิเทศการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.33/80.74 2.2) ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้รับผิดชอบงานประกันคุณภาพ มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการนิเทศการประกันคุณภาพภายในระหว่างก่อนและหลังการใช้รูปแบบการนิเทศการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2.3) ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้รับผิดชอบงานประกันคุณภาพ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการนิเทศการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองชลบุรีอยู่ในระดับมาก 2.4) ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้รับผิดชอบงานประกันคุณภาพ มีความพึงพอใจต่อรูปแบบการนิเทศการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองชลบุรีอยู่ในระดับมาก