รายงานผลการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์โดยใช้สื่อที่หลากหลาย
เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2
โรงเรียนเทศบาล ๓ (วิมุกตายนวิทยา)
ผู้รายงาน ฟาฮาดาร์ บิลเส็ม
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์โดยใช้สื่อที่หลากหลาย เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 และ 2) เพื่อศึกษาระดับพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์โดยใช้สื่อที่หลากหลาย เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ เด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนเทศบาล ๓ (วิมุกตายนวิทยา) สำนักการศึกษา เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส จำนวน 5 ห้อง ได้แก่ ชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 จำนวน 34 คน ชั้นอนุบาลปีที่ 2/2 จำนวน 31 คน ชั้นอนุบาลปีที่ 2/3 จำนวน 32 คน ชั้นอนุบาลปีที่ 2/4 จำนวน 32 คนและชั้นอนุบาลปีที่ 2/5 จำนวน 33 รวมทั้งสิ้น จำนวน 162 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2/5 จำนวน 33 คน ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนเทศบาล ๓ (วิมุกตายนวิทยา) สำนักการศึกษา เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ 1) กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์โดยใช้สื่อที่หลากหลาย จำนวน 30 กิจกรรม 2) แผนการจัดประสบการณ์ จำนวน 30 แผน และ 3) แบบประเมินพัฒนาการ จำนวน 4 ชุด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าประสิทธิภาพ และวิเคราะห์ความแตกต่างโดยใช้ t-test (Dependent Samples) ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการพัฒนาและหาประสิทธิภาพของกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์โดยใช้สื่อที่หลากหลาย
เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ82.84/83.94 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 80/80
2. ระดับพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 หลังการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์โดยใช้สื่อที่หลากหลายเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีผลต่างของคะแนนเท่ากับ 17.94 คิดเป็นร้อยละ 29.90 โดยสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์โดยใช้สื่อที่หลากหลาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01