กลยุทธ์การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรเพื่อส่งเสริมการเป็นชุมชนฯ
โรงเรียนสระพังวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ
ผู้วิจัย ลัดดาพร ศรีทองสุข
ปีที่รายงาน 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษากรอบแนวคิดกลยุทธ์การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรเพื่อส่งเสริมการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนสระพังวิทยาคม 2) วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส ภาวะคุกคาม และกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรเพื่อส่งเสริมการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนสระพังวิทยาคม และ3) ประเมินความเหมาะสมและเป็นไปได้ของกลยุทธ์การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรเพื่อส่งเสริมการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนสระพังวิทยาคม โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมวิธีพหุระยะ (Multi - phase Mixed Method Research) เก็บข้อมูลเชิงปริมาณร่วมกับการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม แบบวิเคราะห์สภาพแวดล้อมสถานศึกษา (SWOT) และแบบประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติเชิงบรรยาย คือ ร้อยละ ความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. กรอบแนวคิดกลยุทธ์การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรเพื่อส่งเสริมการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ประกอบด้วย วัฒนธรรมระดับบุคคล ได้แก่ 1) ความมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง 2) การมีวิธีคิดที่เปิดกว้าง ความคิดเชิงระบบ และความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรมระดับกลุ่ม ได้แก่ 1) การสร้างวิสัยทัศน์การเรียนรู้ร่วมกัน 2) การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการแบ่งปันความรู้การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม และวัฒนธรรมระดับสถานศึกษา ได้แก่ 1) แลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และยึดครูเป็นศูนย์กลาง 2) การสร้างสรรค์นวัตกรรม และองค์ความรู้ใหม่ในการจัดการเรียนรู้ และ3) การถอดบทเรียนการเรียนรู้จากประสบการณ์ และพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมการเรียนรู้
2. กลยุทธ์การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรเพื่อส่งเสริมการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนสระพังวิทยาคม ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์หลัก คือ กลยุทธ์หลักที่ 1 เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาตนเองของครูและบุคลากรทางการศึกษา มี 2 กลยุทธ์รอง 5 วิธีดำเนินการ กลยุทธ์หลักที่ 2 เสริมสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระดับกลุ่มสาระการเรียนรู้ของครูและบุคลากรทางการศึกษา มี 2 กลยุทธ์รอง 6 วิธีดำเนินการ และกลยุทธ์หลักที่ 3 มุ่งสู่การเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ระดับสถานศึกษาอย่างยั่งยืน มี 3 กลยุทธ์รอง 7 วิธีดำเนินการ
3. ผลการประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของกลยุทธ์การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรเพื่อส่งเสริมการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนสระพังวิทยาคม โดยภาพรวมมีความเหมาะสมและเป็นไปได้อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแต่ละกลยุทธ์ พบว่า มีความเหมาะสมและความเป็นไปได้อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด