รายงานการใช้ชุดฝึกอบรมการสร้างเครื่องมือวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ชื่อผู้รายงาน : นางณัฐพัชร์ ด่านจิระมนตรี
ปีที่ทำการศึกษา : 2563
บทคัดย่อ
รายงานการใช้ชุดฝึกอบรมการสร้างเครื่องมือวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบอัตนัย สำหรับครูผู้สอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างชุดฝึกอบรมการสร้างเครื่องมือวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบอัตนัย สำหรับครูผู้สอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ก่อนการอบรมและหลังการอบรมของผู้เข้าอบรม ด้วยชุดฝึกอบรมการสร้างเครื่องมือวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบอัตนัย สำหรับครูผู้สอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ 3) ศึกษาความพึงพอใจของครูที่มีต่อชุดฝึกอบรมการสร้างเครื่องมือวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบอัตนัย สำหรับครูผู้สอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ครูผู้สอนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 20 โรงเรียน จำนวน 20 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ที่มีผลการประเมินคุณภาพผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (NT) อยู่ในระดับพอใช้และปรับปรุง
เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ 1) ชุดฝึกอบรมการสร้างเครื่องมือวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบอัตนัย สำหรับครูผู้สอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 6 เล่ม 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ ก่อนการอบรมและหลังการอบรมการสร้างเครื่องมือวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบอัตนัย สำหรับครูผู้สอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 30 ข้อ 3) แบบประเมินความพึงพอใจของครูที่มีต่อชุดฝึกอบรมการสร้างเครื่องมือวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบอัตนัย สำหรับครูผู้สอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 18 ข้อ 4) แบบประเมินเพื่อตรวจสอบคุณภาพชุดฝึกอบรม จำนวน 1 ชุด สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบค่าที (t-test แบบ Dependent)
ผลการศึกษาพบว่า
1. ประสิทธิภาพของชุดฝึกอบรมการสร้างเครื่องมือวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบอัตนัย สำหรับครูผู้สอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 82.67/87.17
2. การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการอบรมของผู้เข้าอบรมด้วยชุดฝึกอบรมการสร้างเครื่องมือวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบอัตนัย สำหรับครูผู้สอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีคะแนนเฉลี่ยหลังอบรมสูงกว่าก่อนการอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ผลการวิเคราะห์ ครูมีความพึงพอใจต่อชุดฝึกอบรมการสร้างเครื่องมือวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบอัตนัย สำหรับครูผู้สอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่า ครูมีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (X-bar= 4.59, S.D. = 0.48)