พัฒนารูปแบบการบริหารงานกิจการนักเรียนโดยยึดหลักการทำงานเป็นทีม
โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ (วังชมภูวิทยาคม)
ผู้รายงาน : นางสาวนันท์นภัส บุญยอด
ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา
วิทยฐานะรองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
ปีที่ทำวิจัย : 2562-2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารงานกิจการนักเรียน โดยยึดหลักการทำงานเป็นทีมโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ (วังชมภูวิทยาคม) และดำเนินการวิจัย มี 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1) การศึกษาองค์ประกอบของรูปแบบการบริหารงานกิจการนักเรียน โดยยึดหลักการทำงานเป็นทีมโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ (วังชมภูวิทยาคม) จากเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและจากสัมภาษณ์ ผู้อำนวยการ/รองผู้อำนวยการระดับเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการ/รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานกิจการนักเรียน และผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 19 คน 2) การสร้างรูปแบบการบริหารงานกิจการนักเรียน โดยยึดหลักการทำงานเป็นทีมโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ (วังชมภูวิทยาคม) โดยการตรวจสอบความเหมาะสมและความเป็นไปได้ โดยผู้เชี่ยวชาญ 5 คน ผู้บริหารและครูฝ่ายบริหารงานกิจการนักเรียน จำนวน 24 คน 3) การทดลองใช้ รูปแบบการบริหารงานกิจการนักเรียนโดยยึดหลักการทำงานเป็นทีมโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ (วังชมภูวิทยาคม) โดยมีกลุ่มตัวอย่าง นักเรียน จำนวน 260 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 260 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 15 คน บุคลากร จำนวน 43 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ รูปแบบการบริหารงานกิจการนักเรียน โดยยึดหลักการทำงานเป็นทีมโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ (วังชมภูวิทยาคม) BATTLE MODEL และคู่มือประกอบการดำเนินการตามรูปแบบ ซึ่งมีเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล 12 ฉบับ คือ (1) แบบสัมภาษณ์ 8 ฉบับ (2) แบบสอบถาม 2 ฉบับ (3) แบบบันทึก 1 ฉบับ และ (4) แบบสังเกต 1 ฉบับ ตรวจสอบความเที่ยงตรงของเนื้องหา (Content Validity) โดยหาค่าความสอดคล้องระหว่างข้อคำถามแต่ละข้อกับจุดประสงค์หรือเนื้อหา (Item Objective Congruence Index หรือ IOC) อยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ คือ มากกว่า 0.5 ขึ้นไป และได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาทั้งฉบับอยู่ระหว่าง 0.6805 – 0.8801 สถิติที่ใช้ในการศึกษา คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการสร้างข้อสรุปจากการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) 4) การประเมินรูปแบบการบริหารงานกิจการนักเรียน โดยยึดหลักการทำงานเป็นทีมโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ (วังชมภูวิทยาคม) โดยประเมินความพึงพอใจ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการศึกษาของโรงเรียน กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียน จำนวน 260 คน ผู้ปกครอง จำนวน 260 คน บุคลากร จำนวน 43 คน และคณะกรรมการสถานศึกษา 15 คน
ผลการวิจัย พบว่า
1. องค์ประกอบของรูปแบบการบริหารงานกิจการนักเรียน โดยยึดหลักการทำงานเป็นทีมโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ (วังชมภูวิทยาคม) โดยการศึกษาค้นคว้าแนวคิด ทฤษฎีจากเอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์ ผู้อำนวยการ/รองผู้อำนวยการระดับเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการ/รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานกิจการนักเรียน และผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 19 คน มี 6 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 Brain Storming : B ขั้นระดมสมองในการวางแผน ขั้นตอนที่ 2 Arrangement : A ขั้นการดำเนินการ ขั้นตอนที่ 3 Training : T ขั้นการพัฒนา ขั้นตอนที่ 4 Teaching and Learning Design : T ขั้นการออกแบบและพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ขั้นตอนที่ 5 Listening and Sharing : L ขั้นการรับฟังและแบ่งปัน และขั้นตอนที่ 6 Evaluation : E ขั้นประเมินผลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
2. การสร้างรูปแบบการบริหารงานกิจการนักเรียน โดยยึดหลักการทำงานเป็นทีมโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ (วังชมภูวิทยาคม) ที่สร้างขึ้นมีชื่อเรียกว่า BATTLE MODEL ประกอบด้วยองค์ประกอบ 6 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 Brain Storming : B ขั้นระดมสมองในการวางแผน ขั้นตอนที่ 2 Arrangement : A ขั้นการดำเนินการ ขั้นตอนที่ 3 Training : T ขั้นการพัฒนา ขั้นตอนที่ 4 Teaching and Learning Design : T ขั้นการออกแบบและพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ สู่ผู้เรียน ขั้นตอนที่ 5 Listening and Sharing : L ขั้นการรับฟังและแบ่งปัน และขั้นตอนที่ 6 Evaluation : E ขั้นประเมินผลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รายละเอียดปรากฏในคู่มือการดำเนินการ ซึ่งผล การประเมินพบว่า มีความเหมาะสมความเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก
3. ผลการดำเนินการทดลองใช้รูปแบบการบริหารงานกิจการนักเรียนโดยยึดหลักการทำงานเป็นทีม โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ (วังชมภูวิทยาคม) อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีผลการดำเนินงานรายด้าน ดังนี้ 1) ด้านการวางแผนงานกิจการนักเรียน อยู่ในระดับมาก 2) ด้านการบริหารงานกิจการนักเรียน อยู่ระดับมากที่สุด 3) ด้านการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด 4) ด้านการส่งเสริมพัฒนาวินัย คุณธรรม จริยธรรม อยู่ในระดับมาก 5) ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด 6) ด้านการประเมินผลการดำเนินงานกิจการนักเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด 7) ด้านการพัฒนาบุคลากร มีการพัฒนาครูผู้สอนหลายรูปแบบ หลายวิธีการและต่อเนื่อง อยู่ในระดับมากที่สุด 8) ด้านการทำงานเป็นทีม ปรากฏว่าบุคลากรของโรงเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหารงานของโรงเรียน มีการสนับสนุนช่วยเหลือ ยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีและไว้วางใจกัน อยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลการศึกษาความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้เสียกับการจัดการศึกษาของโรงเรียน พบว่า มีความพึงพอใจต่อการบริหารงานกิจการนักเรียน โดยยึดหลักการทำงานเป็นทีม โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ (วังชมภูวิทยาคม) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก