การพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
ของนักเรียน โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดบ้านจองคำ สังกัดองค์การบริหาร
ส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ผู้วิจัย ว่าที่ร้อยตรีหญิงณัฐจิตกานต์ จันทร์โอพาส
สถานศึกษา โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดบ้านจองคำ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) พัฒนาครูโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดบ้านจองคำ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ แนวคิด ทฤษฎีการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน 2) ให้ครูโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดบ้านจองคำ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน สามารถเขียนแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3) ให้ครูโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดบ้านจองคำ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน สามารถจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4) ศึกษาความพึงพอใจของผู้ร่วมวิจัยที่มีต่อการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน โดยใช้หลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ซึ่งเป็นหลักการและขั้นตอนตามแนวคิดของ Kemmis และ McTaggart ดำเนินการเป็น 2 วงรอบ แต่ละวงรอบ ประกอบด้วย การวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Observation) และการสะท้อนผล (Reflection) กลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 9 คน ได้แก่ ผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัย ซึ่งเป็นครูโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดบ้านจองคำ จำนวน 8 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูล จำนวน 63 คน ได้แก่ รองผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 1 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 60 คน และวิทยากร จำนวน 2 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบ แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบบันทึก และแบบประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ แบบสอบถามความพึงพอใจ การตรวจสอบข้อมูลใช้เทคนิคการตรวจสอบแบบหลายมิติ วิเคราะห์และนำเสนอผลการวิจัยโดยวิธีพรรณนา
ผลการวิจัยก่อนดำเนินการพัฒนากระบวนการในการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดบ้านจองคำ พบว่า ครูผู้สอนส่วนใหญ่ยังจัดการเรียนรู้ที่ไม่ยึดนักเรียนเป็นสำคัญ ครูยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ขาดความเข้าใจเรื่องการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ส่งผลให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้วิจัยได้วางแผนการพัฒนาโดยใช้หลักการวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) ใช้กลยุทธ์ในการพัฒนา 4 กลยุทธ์ คือ การศึกษาเอกสาร การฝึกอบรม การศึกษาดูงาน และการนิเทศ ดำเนินการพัฒนา 2 วงรอบ ดังนี้
วงรอบที่ 1 1) ผลจากการศึกษาเอกสารด้วยกิจกรรมมอบหมายงานและการประชุมกลุ่มย่อยร่วมกันทำให้กลุ่มผู้ร่วมวิจัยมีความรูความเข้าใจ และมองเห็นรายละเอียดการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ และการประชุมกลุ่มย่อยร่วมกันนำไปสู่การปฏิบัติจริง โดยเฉพาะการเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ประกอบด้วย การจัดการเรียนรู้ที่เน้นการคิดและการปฏิบัติจริง การออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์ การใช้รูปแบบและเทคนิควิธีการสอนด้านการคิดวิเคราะห์ การใช้และพัฒนาสื่อที่เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ และการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนกลับ 2) การประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยใช้กิจกรรมการทดสอบก่อนและหลังการฝึกอบรม การบรรยายให้ความรู้และการฝึกปฏิบัติ ซึ่งได้ข้อค้นพบว่า ครูมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และสามารถเขียนแผนการสอนได้ แต่ขาดความมั่นใจในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน 3) การศึกษาดูงานโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อ ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ คือ โรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์ หลังจากการศึกษาดูงานทำให้กลุ่มผู้ร่วมวิจัยได้รับความรู้และประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี 4) การนิเทศภายใน ด้วยกิจกรรมการนิเทศแผนการจัดการเรียนรู้และกิจกรรมการสาธิตการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน ทำให้กลุ่มผู้ร่วมวิจัยมีความรู้ความเข้าใจในด้านการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สามารถเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ได้ แต่การพัฒนาในวงรอบที่ 1 ยังค้นพบปัญหาคือ
ควรเน้นกิจกรรมให้นักเรียนฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองอย่างเหมาะสมกับเนื้อหา และบูรณาการเพื่อนำไปสร้างองค์ความรู้ใหม่ ควรนำไปพัฒนาปรับปรุงในวงรอบที่ 2 ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
วงรอบที่ 2 จัดกิจกรรมการนิเทศการสอนและการนิเทศให้คำแนะนำปรึกษา ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสังเกตและแบบสัมภาษณ์ พบว่า การใช้กลยุทธ์แบบต่อเนื่องทำให้กลุ่มผู้ร่วมวิจัยมีความรู้ ความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีทักษะปฏิบัติ สามารถเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ และจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ทำให้ครูมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ ส่วนการนิเทศให้คำแนะนำปรึกษา พบว่า กลุ่มผู้ร่วมวิจัยมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และได้เทคนิควิธีการในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์เพิ่มขึ้น โดยผู้ร่วมวิจัยมีความพึงพอใจต่อการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
โดยสรุป ผลการพัฒนาทั้ง 2 วงรอบ ทำให้กลุ่มผู้ร่วมวิจัยได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในเรื่องประสิทธิภาพของการจัดการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้ได้มาตรฐาน ครูสามารถจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนได้อย่างมั่นใจ เป็นการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไป