การพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามทฤษฎีหมวกหกใบ
ผู้วิจัย เกศวิมลลักษณ์ แจ่มจันทร์
สถานศึกษา โรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา)
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาประสิทธิภาพของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามทฤษฎีหมวกหกใบ เพื่อพัฒนาการคิดวิเคราะห์วรรณคดีไทย ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามเกณฑ์ 80/80 2) เปรียบเทียบผลการคิดวิเคราะห์วรรณคดีไทย ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามทฤษฎีหมวกหกใบ และ 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามทฤษฎีหมวกหกใบ เพื่อพัฒนาการคิดวิเคราะห์วรรณคดีไทย กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/3 โรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา) สังกัดเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี จำนวน 42 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามทฤษฎีหมวกหกใบ จำนวน 5 แผน 24 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบวัดการคิดวิเคราะห์วรรณคดีไทย ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 30 ข้อ และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามทฤษฎีหมวกหกใบ เพื่อพัฒนาการคิดวิเคราะห์วรรณคดีไทย ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามแบบลิเคอร์ท ซึ่งประกอบด้วยคำถามที่มีลักษณะการตอบแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 10 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าสถิติที (t-test) ผลการวิจัยพบว่า
1. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามทฤษฎีหมวกหกใบ เพื่อพัฒนาการคิดวิเคราะห์วรรณคดีไทย ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 81.31/82.46 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามทฤษฎีหมวกหกใบ มีการคิดวิเคราะห์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามทฤษฎีหมวกหกใบ เพื่อพัฒนาการคิดวิเคราะห์วรรณคดีไทย ภาพรวมอยู่ในระดับมาก (X-bar = 4.43, S.D = 0.26) เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า สามอันดับแรก คือ คือนักเรียนสนุกสนานกับกิจกรรมการเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนรู้ทำให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนและครู และนักเรียนมมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน ตามลำดับ