การพัฒนารูปแบบความสามารถด้านการคิดแก้ปัญหา โดยใช้กีฬา หมากล้อม
หมากล้อมของเด็กปฐมวัยโรงเรียนบ้านหนองหญ้าแพรกท่าแร่
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 1
ชื่อผู้วิจัย นางนงค์นุช ศรีสุข
ระดับการวิจัย การศึกษาปฐมวัย
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของการพัฒนารูปแบบความสามารถด้านการคิดแก้ปัญหาโดยใช้กีฬาหมากล้อมของเด็กปฐมวัย โรงเรียนบ้านหนองหญ้าแพรกท่าแร่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 1 และ 2) ประเมินการพัฒนารูปแบบความสามารถด้านการคิดแก้ปัญหาโดยใช้กีฬาหมากล้อมของเด็กปฐมวัย โรงเรียนบ้านหนองหญ้าแพรกท่าแร่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 1 กลุ่มเป้าหมาย ที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนบ้านหนองหญ้าแพรกท่าแร่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่นเขต 1 จำนวน 7 คน ที่ได้จากวิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัยนี้ ได้แก่ คู่มือการพัฒนาความสามารถด้านการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัยระดับปฐมวัยชั้นได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้กีฬาหมากล้อม มีค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่าง 0.80–1.00 แผนการจัดประสบการณ์โดยใช้กีฬาหมากล้อมขั้นพื้นฐาน จำนวน 10 แผน มีค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่าง 0.80–1.00 แบบสังเกตพัฒนาการความสามารถด้านการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า การพัฒนารูปแบบความสามารถด้านการคิดแก้ปัญหา โดยใช้กีฬาหมากล้อมของเด็กปฐมวัยโรงเรียนบ้านหนองหญ้าแพรกท่าแร่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 1 ที่สร้างขึ้นมีกิจกรรม 10 บทเรียน ได้แก่ 1) มาเล่นหมากล้อมกันเถอะ 2) การจับกิน 3) การวางหมากเปิดเกม 4) การเล่นกลางเกม การปิดเกม การตัดหมากและการเชื่อมหมาก 5) การสร้างสองห้องรอด – วิธีทำลายห้องคู่ต่อสู้ 6) ห้องจริง – ห้องปลอม 7) การรุก–การรับ 8) การล้อมพื้นที่–การนับแต้ม 9) งานด่วนมาก่อนงานใหญ่ และ 10) เทคนิคขั้นเทพสำหรับเด็กปฐมวัย ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นนำ ขั้นสอน(อธิบายและสาธิต) ขั้นฝึกปฏิบัติ/การนำไปใช้ และขั้นสรุป
2. ผลการประเมินการพัฒนารูปแบบความสามารถด้านการคิดแก้ปัญหาโดยใช้กีฬาหมากล้อม พบว่า หลังจากได้รับการพัฒนารูปแบบความสามารถด้านการคิดแก้ปัญหาโดยใช้กีฬาหมากล้อมเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการด้านการแก้ปัญหาสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมและรูปแบบมีความเหมาะสม มีความเป็นไปได้ สอดคล้องและมีประโยชน์ในการนำไปใช้