การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่สร้างเสริมมโนทัศน์
เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจำนวนจริง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้วิจัย นางสาวธันชนน ธรรมวิพากย์
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
สถานศึกษา โรงเรียนพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
ปีที่จัดทำ 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพการจัดการเรียนรู้ที่สร้างเสริมมโนทัศน์ และการแก้ปัญหาวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจำนวนจริง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 2) พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่สร้างเสริมมโนทัศน์และการแก้ปัญหาวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจำนวนจริง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 3) ทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ ที่สร้างเสริมมโนทัศน์ และการแก้ปัญหาวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจำนวนจริง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 4) ประเมินผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่สร้างเสริมมโนทัศน์ และการแก้ปัญหาวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจำนวนจริง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
การดำเนินการวิจัยมี 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การวิเคราะห์ (Analysis) โดยการวิเคราะห์ข้อมูลที่ใช้ในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ ระยะที่ 2 การออกแบบและพัฒนา (Design and Development) การดำเนินแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ 1) การออกแบบรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่สร้างเสริมมโนทัศน์และการแก้ปัญหา 2) การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ คู่มือการใช้รูปแบบ แผนการจัดการเรียนรู้และเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ระยะที่ 3 การนำไปใช้ (Implementation) โดยการนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ไปทดลองใช้จริงกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนพิบูลมังสาหาร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 40 คน ทำการสุ่มห้องเรียนโดยใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Random Sampling) ระยะเวลาในการทดลอง 6 สัปดาห์ รวม 18 ชั่วโมง เครื่องมือวิจัย คือ แบบทดสอบ แบบฝึกทักษะ แบบทดสอบวัดมโนทัศน์และการแก้ปัญหา วิเคราะห์ข้อมูลโดยการทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ ความแปรปรวน (Analysis of Covariance) ระยะที่ 4 การประเมิน (Evaluation) การดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ 1) การประเมินระหว่างการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ 2) การประเมินหลังการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ และนำเสนอรูปแบบ
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ 1) หลักการ 2) จุดมุ่งหมาย 3) กระบวนการจัดการเรียนรู้ 4) การวัดและประเมินผล กระบวนการจัดการเรียนรู้มี 6 ขั้น คือ 1) ขั้นสำรวจความรู้เดิม 2) ขั้นเร้าความสนใจ 3) ขั้นทำมโนทัศน์ให้ชัดเจน 4) ขั้นตรวจสอบมโนทัศน์ 5) ขั้นนำมโนทัศน์ไปใช้ และ6) ขั้นการประเมินผล
2. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น พบว่า
2.1 นักเรียนกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความเข้าใจมโนทัศน์ทางคณิตศาสตร์หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2.2 นักเรียนกลุ่มทดลองมีความสามารถในการแก้ปัญหาหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2.3 รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิผล .66 และมีประสิทธิภาพ 81.54/82.69
3. ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรและการสอนคณิตศาสตร์ มีความเห็นว่ารูปแบบที่พัฒนาขึ้นสามารถพัฒนาความเข้าใจมโนทัศน์ทางคณิตศาสตร์ และความสามารถในการแก้ปัญหามีความเหมาะสมและสามารถนำไปใช้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2