รูปแบบการพัฒนาความสามารถในการอ่านจับใจความสำคัญโดยใช้แบบฝึก ฯ
ชื่อผู้วิจัย นางปุนรดา ผูกจิตร
ปีการศึกษา 2563.
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน สภาพปัญหาและความต้องการในการจัดการเรียนการสอน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนเทศบาล 2 หนองบัว สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครอุบลราชธานี 2) สร้างและพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญภาษาไทย โดยใช้แบบฝึกทักษะการ จัดการเรียนรู้ แบบกิจกรรมกลุ่มร่วมมือ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) ทดลองใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญภาษาไทย และ 4) เพื่อประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้แบบฝึกทักษะโดยใช้แบบฝึกทักษะการจัดการเรียนรู้แบบกิจกรรมกลุ่มร่วมมือ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 2 หนองบัว สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครอุบลราชธานี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 40 คน การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีขั้นตอนการดำเนินการวิจัย 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน สภาพปัญหาและความต้องการในการจัดการเรียนการสอน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 2 หนองบัว สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครอุบลราชธานี ขั้นตอนที่ 2 สร้างและพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกทักษะการจัดการเรียนรู้ แบบกิจกรรมกลุ่มร่วมมือ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ขั้นตอนที่ 3 ทดลองใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ และ ขั้นตอนที่ 4 ประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้แบบฝึกทักษะ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ 2) แบบทดสอบการอ่านจับใจความสำคัญ 3) แบบประเมินความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าร้อยละ
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผู้สอนมีความต้องการสอนอ่านจับใจความสำคัญในระดับมาก และต้องการให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้ด้วยตนเองจากแหล่งเรียนรู้ สามารถวิเคราะห์และอธิบายเหตุผลประกอบการคิดเกี่ยวกับบทอ่านในระดับมากที่สุด
2. แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 91.77/88.42 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่ตั้งไว้
3. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เรียนด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญที่สร้างขึ้นมีผลการเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.81
4. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีความพึงพอใจต่อแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญในระดับมากที่สุด