การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน
เพื่อส่งเสริมทักษะสมอง-อีเอฟ ด้านการกำกับตนเอง สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3
ผู้วิจัย นางจุฑามาศ สมาทอง
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
สังกัด โรงเรียนเทศบาล 3 สามัคคีวิทยาคาร สำนักการศึกษา เทศบาลนครอุบลราชธานี
จังหวัดอุบลราชธานี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่วิจัย 2563
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะสมอง-อีเอฟ ด้านการกำกับตนเอง สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจปัญหา และความต้องการในการจัดประสบการณ์โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะสมอง-อีเอฟ ด้านการกำกับตนเอง สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 พัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะสมอง-อีเอฟ ด้านการกำกับตนเอง สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 ทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะสมอง-อีเอฟ ด้านการกำกับตนเอง สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 และประเมินความพึงพอใจของเด็กที่มีต่อรูปแบบการจัดประสบการณ์โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะสมอง-อีเอฟ ด้านการกำกับตนเอง สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 กลุ่มตัวอย่าง คือ เด็กชายและหญิง อายุ 5 ปี ซึ่งกำลังศึกษาในระดับปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนเทศบาล 3 สามัคคีวิทยาคาร สำนักการศึกษา เทศบาลนครอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 20 คน ซึ่งเป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย โดยใช้แบบวิเคราะห์เอกสาร แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม รูปแบบการจัดประสบการณ์ คู่มือการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ แผนการจัดประสบการณ์ แบบวัดทักษะสมอง-อีเอฟ ด้านการกำกับตนเอง และแบบประเมินความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหาและใช้สถิติเชิงพรรณนา ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าทีในการเปรียบเทียบทักษะสมอง-อีเอฟ ด้านการกำกับตนเอง
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะสมอง-อีเอฟ ด้านการกำกับตนเอง สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 มี 4 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการของรูปแบบการจัดประสบการณ์ 2) วัตถุประสงค์ของการจัดประสบการณ์ 3) กระบวนการของรูปแบบการจัดประสบการณ์ ตามขั้นตอนการจัดประสบการณ์โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน 2SQL Model ได้แก่ 3.1) ขั้นการกระตุ้นความสนใจใคร่รู้ 3.2) ขั้นการเล่าเรื่องให้สนุก 3.3) ขั้นตั้งคำถาม และ 3.4) ขั้นการเชื่อมโยง และ 4) การประเมินรูปแบบการจัดประสบการณ์ โดยผลการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการจัดประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก (x-bar = 4.36, S.D.=0.54)
2. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะสมอง-อีเอฟ ด้านการกำกับตนเอง สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 พบว่า เด็กที่ได้รับการจัดประสบการณ์ตามรูปแบบ โดยใช้กระบวนการจัดประสบการณ์ตามขั้นตอนการจัดประสบการณ์ แบบ 2SQL หลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความพึงพอใจของเด็กที่มีต่อรูปแบบการจัดประสบการณ์โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมทักษะสมอง-อีเอฟ ด้านการกำกับตนเอง สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3 พบว่า โดยรวมมีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (x-bar = 2.76, S.D. = 0.43)