การพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการ กลุ่มสาระการเรียนรู้
การงานอาชีพ เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของนักเรียน
ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
ชื่อผู้วิจัย นางสาวกวินตรา ไหมเจริญ
ปีที่ทำการวิจัย 2561 – 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน แบบบูรณาการ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมเชิงจริยธรรม ของนักเรียนระดับ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พฤติกรรมเชิงจริยธรรม และเจตคติเชิงจริยธรรม กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเทศบาลเมืองเขาสามยอด สังกัดเทศบาลเมืองเขาสามยอด จังหวัดลพบุรี การสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multistage Random Sampling) แบ่งเป็น 2 ขั้น คือ 1) การสุ่มเป็นกลุ่ม (Cluster Sampling) นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 8 ห้องเรียน สุ่มมา 2ห้องเรียน 2) การสุ่มอย่างง่าย (Sampling Random Sampling) จับฉลากเป็นกลุ่มทดลอง 1ห้องเรียน จำนวน 50 คน และเป็นกลุ่มควบคุม 1 ห้องเรียน จำนวน 50 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบสังเกตพฤติกรรมเชิงจริยธรรม และแบบวัด
เจตคติเชิงจริยธรรม ใช้แบบแผนการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Design) แบบ(Randomized Control, Pre-Test-Post-Test Control, Group Design) วิเคราะห์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS การวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐานและการทดสอบค่า t-test แบบDependent Samples, Independent Samples และวิเคราะห์ ความแปรปรวน
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมเชิงจริยธรรม ของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 2 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน 2) ขั้นจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้นตอนย่อย คือ 2.1) ขั้นประสบการณ์ 2.2) ขั้นการร่วมมือ 2.3) ขั้นคิดวิเคราะห์ 3) ขั้นสรุป 4) ขั้นนำไปใช้/ปฎิบัติ
2. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการทดลอง พบว่า กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยโดยรวมสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ด้านพฤติกรรมเชิงจริยธรรมหลังการทดลองพบว่า กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยโดยรวมสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และด้านเจตคติเชิงจริยธรรมหลังการทดลอง พบว่า กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยโดยรวมสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05