การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ อ่านต่อได้ที่: https://
ในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
ชื่อผู้วิจัย นางสาววารินาถ จีนยี่ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาลเมืองเขาสามยอด ๑ สังกัดเทศบาลเมืองเขาสามยอด อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาศึกษาปีที่ 2 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 4) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แหล่งข้อมูล/กลุ่มเป้าหมายตามวัตถุประสงค์การวิจัยขั้นตอนที่ 1 ได้แก่ นโยบายพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สาระที่ 2 การวัด ทฤษฎีการเชื่อมโยง ของธอร์นไดค์ ทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยกระบวนการค้นพบ ของบรุนเนอร์ ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมายของอซูเบล และทฤษฎีการสร้างความรู้ของไวก็อตสกี้ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหา การศึกษาความคิดเห็นความต้องการในการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 30 คน ประเด็นการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการของครูหัวหน้างานวิชาการโรงเรียนและครูหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ จำนวน 2 คน และประเด็นการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการของครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ จำนวน 3 คน แหล่งข้อมูล/กลุ่มเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยขั้นตอนที่ 2 ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานในขั้นตอนที่ 1 ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน ในการตรวจสอบความเหมาะสม/สอดคล้อง และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 30 คน ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง แหล่งข้อมูล/กลุ่มตัวอย่างตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยขั้นตอนที่ 3 และ 4 ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเทศบาลเมืองเขาสามยอด ๑ สังกัด เทศบาลเมืองเขาสามยอด อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี จำนวน 29 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) คู่มือการใช้รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ 2) แผนการจัดการเรียนการสอน 3) แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหา 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ และ 5) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปและการคิดวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) สถิติที่ใช้ได้แก่ การหาค่าเฉลี่ย ( ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)และค่าที (t-test dependent)
ผลการวิจัย
1. ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 พบว่า ข้อมูลพื้นฐานโดยภาพรวมมีความเหมาะสม/สอดคล้องและเพียงพอกับการศึกษาเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 1 โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 กำหนดแนวทางการจัดการศึกษาให้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนได้คิด ได้ลงมือปฏิบัติจากสถานการณ์ต่างๆ และฝึกทักษะการคิด และจุดมุ่งหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มีเป้าหมายของการศึกษาให้ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาเต็มตามศักยภาพ และจากความคิดเห็นของนักเรียน พบว่า ต้องการเรียนรู้ที่ท้าทายสนุกสนานด้วยกระบวนการกลุ่ม ในส่วนของหัวหน้างานวิชาการโรงเรียนและครูหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์มีความคิดเห็นว่ายุทธศาสตร์ในการพัฒนาความสามารถในการคิดให้แก่นักเรียนนั้นต้องมุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ด้วยการฝึกปฏิบัติการคิดอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ และจากการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการกับครูผู้สอนสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เห็นว่าปัจจัยสำคัญที่สามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คือ วิธีการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออกด้วยกิจกรรมเล่นปนเรียน เพื่อให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียน จะสามารถเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหาให้กับนักเรียนได้
2. ผลการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 พบว่า รูปแบบการเรียนการสอน (GPCSE Model) ที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วยกระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การสร้างความสนใจ (Gaining Attention: G) ขั้นตอนที่ 2 การนำเสนอเนื้อหา (Presentation: P) ขั้นตอนที่ 3 การแก้ปัญหาเป็นกลุ่ม (Cooperative group: C) เป็นการปฏิบัติกิจกรรมกลุ่มฝึกคิดแก้ปัญหา 5 ขั้น คือ 1) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ 2) ระบุปัญหา 3) แสดงวิธีหาคำตอบ 4) ตรวจสอบคำตอบ และ 5) นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ขั้นตอนที่ 4 การแลกเปลี่ยนความคิด (Sharing: S) และขั้นตอนที่ 5 การประเมินผล (Evaluation: E) มีความเหมาะสม/สอดคล้องตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ โดยมีค่าความสอดคล้อง (IOC) เท่ากับ 0.96 และจากการหาประสิทธิภาพโดยนำไปทดลองใช้ (Tryout) กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 คน พบว่า มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 82.50/84.00 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 2
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 พบว่า จากการนำรูปแบบการเรียนการสอน (GPCSE Model) ไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเทศบาลเมืองเขาสามยอด ๑ สังกัดเทศบาลเมืองเขาสามยอด อำเภอเมืองเขาสามยอด จังหวัดสระบุรี จำนวน 29 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) ใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม (Sampling Unit) หลังการเรียนการสอนนักเรียนมีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่าการทดสอบที (t-test dependent) เท่ากับ 36.346 โดยก่อนเรียนมีคะแนนเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 18.83 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 2.17 และหลังเรียนเท่ากับ 38.03 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 2.15 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 3 และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่าการทดสอบที (t-test dependent) เท่ากับ 38.436 โดยมีคะแนนเฉลี่ย ( ) ก่อนเรียน เท่ากับ 12.34 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.42 และหลังเรียนเท่ากับ 24.79 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.98 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 4
4. ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอน เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 (GPCSE Model) พบว่า หลังการจัดการเรียนการสอนนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนในภาพรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมาก โดยมีคะแนนเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 2.82 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.08 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 5