การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการทางคณิ
คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ชื่อผู้วิจัย นางธิติมา ศรีหมุน ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาลเมืองเขาสามยอด ๑
สังกัดเทศบาลเมืองเขาสามยอด อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดสระบุรี
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาศึกษาปีที่ 6 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอน เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ 4) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอน เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แหล่งข้อมูล/กลุ่มเป้าหมายตามวัตถุประสงค์การวิจัยขั้นตอนที่ 1 ได้แก่ นโยบายการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สาระที่ 1 จำนวนและการดำเนินการ ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง และทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารูปแบบการเรียน การสอน และทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ วิเคราะห์ความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2561 ภาคเรียนที่ 1 จำนวน 30 คน ประเด็นการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการของผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 2 คน และประเด็นการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการของครูหัวหน้างานวิชาการโรงเรียนและครูหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ จำนวน 2 คน แหล่งข้อมูล/กลุ่มเป้าหมายตามวัตถุประสงค์การวิจัยขั้นตอนที่ 2 ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน ตรวจสอบความเหมาะสม/สอดคล้อง และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 30 คน ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง แหล่งข้อมูล/กลุ่มตัวอย่างตามวัตถุประสงค์การวิจัยขั้นตอนที่ 3 และ 4 ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนเทศบาลเมืองเขาสามยอด ๑ สังกัดเทศบาลเมืองเขาสามยอด อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี จำนวน 32 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) คู่มือการใช้รูปแบบการเรียนการสอน 2) แผนการจัดการเรียนการสอน 3) แบบทดสอบวัดทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ และ 5) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปและการคิดวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) สถิติที่ใช้ได้แก่ การหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าที (t-test dependent)
ผลการวิจัย
1. ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า ข้อมูลพื้นฐานโดยภาพรวมมีความเหมาะสม/สอดคล้องและเพียงพอกับการศึกษา โดยข้อมูลนโยบายการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และจุดมุ่งหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มีเป้าหมายของการศึกษาเพื่อให้นำความรู้ ความเข้าใจไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งสาระที่ 1 จำนวนและการดำเนินการ เป็นสาระที่เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ การบวก ลบ คูณและหาร ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะการคิดในศตวรรษที่ 21 และจากความคิดเห็นของนักเรียนก็มีความต้องการให้ครูจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่ม ส่วนข้อมูลของผู้บริหารสถานศึกษามีความคิดเห็นว่าควรเตรียมความพร้อมผู้เรียนเข้าสู่การ จัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 โดยการพัฒนาทักษะการคิดให้กับนักเรียนในระดับประถมศึกษา ตอนปลาย เพื่อเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ในระดับสูงขึ้นไป และครูหัวหน้างานวิชาการและครูหัวหน้า กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์มีความคิดเห็นว่าการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์นั้น ครูควรพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียน ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ให้ประสบความสำเร็จ เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 1
2. ผลการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วยกระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 เตรียมความพร้อม (Preparing: P) ขั้นตอนที่ 2 ทบทวนพื้นฐาน (Continued basic: C) ขั้นตอนที่ 3 การเชื่อมโยงเนื้อหา (Concept association: C) ขั้นตอนที่ 4 การฝึกทักษะ (Skills practice: S) และขั้นตอนที่ 5 การประเมินผล (Evaluation: E) มีความเหมาะสม/สอดคล้องตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ โดยมีค่าความสอดคล้อง (IOC) เท่ากับ 0.92 และจากการหาประสิทธิภาพโดยนำไปทดลองใช้กับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 คน พบว่า มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 83.01/84.42 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 2
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอน เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า จากการนำรูปแบบการเรียนการสอน ไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนเทศบาลเมืองเขาสามยอด ๑ สังกัดเทศบาลเมืองเขาสามยอด อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี จำนวน 32 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) ใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม (Sampling Unit) หลังการเรียนการสอนนักเรียนมีทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่าการทดสอบที (t-test dependent) เท่ากับ 46.953 โดยก่อนเรียนมีคะแนนเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 30.94 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 2.26 และหลังเรียนเท่ากับ 49.44 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 1.66 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 3 และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดย มีค่าการทดสอบที (t-test dependent) เท่ากับ 45.584 โดยมีคะแนนเฉลี่ย ( ) ก่อนเรียน เท่ากับ 12.09 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.23 และหลังเรียนเท่ากับ 24.69 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.78 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 4
4. ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอน เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า หลังการจัดการเรียนการสอนนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนในภาพรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมาก โดยมีคะแนนเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 2.80 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.37 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 5