รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์
รายวิชาคณิตศาสตร์ 5 รหัสวิชา ค33101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ผู้รายงาน นายพงษ์พิชิต พรมสิทธิ์
ปีที่รายงาน 2562
บทคัดย่อ
รายงานฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ รายวิชาคณิตศาสตร์ 5 รหัสวิชา ค33101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (2) ประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ รายวิชาคณิตศาสตร์ 5 รหัสวิชา ค33101
กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 19 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ที่เรียนรายวิชาคณิตศาสตร์ 5 รหัสวิชา ค33101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 32 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบง่าย (Simple random sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ (1) เอกสารประกอบการสอน รายวิชาคณิตศาสตร์ 5 รหัสวิชา ค33101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (2) ชุดฝึกทักษะคณิตศาสตร์ รายวิชาคณิตศาสตร์ 5 รหัสวิชา ค33101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (3) คู่มือการจัดการเรียนรู้ รายวิชาคณิตศาสตร์ 5 รหัสวิชา ค33101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนรายวิชาคณิตศาสตร์ 5 รหัสวิชา ค33101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และ (5) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ รายวิชาคณิตศาสตร์ 5 รหัสวิชา ค33101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ผลการศึกษา ปรากฏผลดังนี้
1. ผลการสร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ รายวิชาคณิตศาสตร์ 5 รหัสวิชา ค33101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พบว่า มีกระบวนการเรียนรู้ 4 ด้าน 8 กิจกรรม เรียกว่า “MATHto8C Model” ได้แก่ 1) Material: M (ด้านเนื้อหา) เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เนื้อหา มี 2 กิจกรรม คือ Content Activities (กิจกรรมศึกษาเนื้อหา) เป็นกิจกรรมศึกษาเนื้อหาด้วยการเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนความคิด (Think-Pair-Share) และ Comprehension Activities (กิจกรรมสร้างความเข้าใจ) เป็นกิจกรรมสร้างความเข้าใจในเนื้อหาหลังจากร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดด้วยการเรียนรู้แบบใช้คำถาม (Question-Based Learning) 2) Abstract: A (ด้านการสรุป) เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนสรุปเนื้อหา มี 2 กิจกรรม คือ Culmination Activities (กิจกรรมสรุปใจความสำคัญ) เป็นกิจกรรมสรุปประเด็นและใจความสำคัญของเนื้อหาด้วยวิธีการจดโน้ตแบบคอร์เนล (Cornell Note-taking) และ Conception Activities (กิจกรรมสร้างมโนทัศน์) เป็นกิจกรรมสรุปองค์ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาด้วยการเขียนแผนที่ความคิด (Mind Mapping) 3) Thinking: T (ด้านการคิด) เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะและกระบวนการคิดแก้ปัญหา มี 2 กิจกรรม คือ Calculation Activities (กิจกรรมการคำนวณ) เป็นกิจกรรมฝึกทักษะกระบวนการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ตามแนวคิดของโพลยา (Polya’s Four-Stage Method) และ Challenge Activities (กิจกรรมการท้าทาย) เป็นกิจกรรมที่ใช้ความท้าทายเป็นฐาน (Challenge Based Learning) โดยให้ผู้เรียนนำเสนอโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ที่มีความซับซ้อน (Complex Problem Solving) เพื่อท้าทายให้ผู้เรียนที่รับฟังการนำเสนอได้แสดงกระบวนการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ตามแนวคิดของโพลยา 4) Hearing: H (ด้านการพิจารณา) เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนได้วิจารณ์ วิพากษ์ และสรุปรวบยอดเนื้อหา มี 2 กิจกรรม คือ Criticism Activities (กิจกรรมวิจารณ์/วิพากษ์) เป็นกิจกรรมวิจารณ์วิพากษ์การจัดการเรียนรู้ทั้งในประเด็นของเนื้อหาสาระการเรียนรู้ที่ได้และประเด็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เกิดด้วยการสะท้อนคิด (Reflective Thinking) และ Conclusion Activities (กิจกรรมสรุปรวบยอด) เป็นกิจกรรมอธิบายสรุปเนื้อหาที่ได้ค้นพบรวมทั้งความรู้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมด้วยการสรุปรวบยอด (Short Note Idea)
2. ผลการประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ รายวิชาคณิตศาสตร์ 5 รหัสวิชา ค33101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (1) ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ รายวิชาคณิตศาสตร์ 5 รหัสวิชา ค33101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีค่าประสิทธิภาพ E1/E2 เท่ากับ 77.03/77.08 ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 75/75 (2) ประสิทธิผลของรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ รายวิชาคณิตศาสตร์ 5 รหัสวิชา ค33101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 1) ดัชนีประสิทธิผลรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ รายวิชาคณิตศาสตร์ 5 รหัสวิชา ค33101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีค่าเท่ากับ 0.6206 หมายความว่าผู้เรียนมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 62.06 2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หลังเรียนโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ รายวิชาคณิตศาสตร์ 5 รหัสวิชา ค33101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ 3) ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ รายวิชาคณิตศาสตร์ 5 รหัสวิชา ค33101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (x=4.48)