รูปแบบการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียง
ผู้วิจัย นายวินัย เจริญรัมย์
โรงเรียน บ้านสาหร่ายวิทยา
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 7
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียง และ 2) ประเมินคุณภาพของรูปแบบการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียง
วิธีดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การพัฒนารูปแบบการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียงของนักเรียน แบ่งเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 การพัฒนาตัวบ่งชี้คุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียง กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักวิชาการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูที่ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา และผู้นำชุมชน จำนวน 14 คน เครื่องมือวิจัย คือ แบบบันทึกผลการสนทนากลุ่ม เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้เทคนิคการสนทนา กลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ตอนที่ 2 การพัฒนารูปแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียง กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดและประเมินผล นักวิชาการด้านการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ที่ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผู้บริหารและครูที่ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา จำนวน 7 คน เครื่องมือวิจัย คือ ร่างรูปแบบการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียงของนักเรียน ระยะที่ 2 การประเมินคุณภาพรูปแบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครู นักเรียน ผู้ปกครองและผู้บริหารโรงเรียนบ้านสาหร่ายวิทยา จำนวน 200 คน เครื่องมือวิจัย ได้แก่ รูปแบบการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียงของนักเรียน แบบประเมินรูปแบบการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียง และแบบสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. รูปแบบการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียงของนักเรียนที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ เป้าหมายของการประเมิน สิ่งที่มุ่งประเมิน วิธีการประเมิน วิธีการตัดสิน และการรายงานผลการประเมิน
2. ผลการประเมินคุณภาพของรูปแบบการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียงของนักเรียน พบว่ามีคุณภาพตามมาตรฐานการประเมิน ทั้ง 4 ด้าน คือ ความถูกต้องครอบคลุม ความเป็นไปได้ ความเหมาะสมและความเป็นประโยชน์ ในระดับมากถึงมากที่สุด
คำสำคัญ : คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ด้านอยู่อย่างพอเพียง รูปแบบส่งเสริม