การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น นงลักษ์ ลักษณะวิมล
สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและ
ความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย นางนงลักษ์ ลักษณะวิมล ตำแหน่ง ครู โรงเรียนสาธิตองค์การบริหารส่วนจังหวัด1
(บ้านท่าเรือมิตรภาพที่ 30) สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช
ปีที่ศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของสารของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้รูปแบบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น เทียบกับเกณฑ์เป้าหมายของโรงเรียนที่กำหนดไว้ร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม และมีจำนวนนักเรียนผ่านเกณฑ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของนักเรียนทั้งหมด 2) เปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ก่อนและหลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น และ3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของสารโดยใช้รูปแบบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบไม่เข้าขั้นการทดลอง (Pre-experimental Research) รูปแบบการวิจัยเป็นแบบกลุ่มเดียวหรือรายกรณี (One – shot Case Study) กลุ่มเป้าหมายที่ศึกษาเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/1 โรงเรียนสาธิตองค์การบริหารส่วนจังหวัด1(บ้านท่าเรือมิตรภาพที่ 30) จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 25 คน ที่ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling ) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของสาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้รูปแบบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น จำนวน 6 แผน ใช้เวลาสอน 12 ชั่วโมง และ2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของสาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าความยากง่าย (P) อยู่ระหว่าง 0.40 – 0.70 ค่าอำนาจจำแนก (r) อยู่ระหว่าง 0.20 – 0.78 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.95 แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นแบบอัตนัย 3 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบ เท่ากับ 0.54 และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของสาร โดยใช้รูปแบบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ
สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติ
t-test for Dependent sample
ผลการวิจัยพบว่า
1. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์หลังเรียนผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ ร้อยละ 70 ขึ้นไป จำนวน 23 คน คิดเป็นร้อยละ 92 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์เป้าหมายที่กำหนดไว้
2. ความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ในภาพรวมและแยกแต่ละด้านคือความคิดคล่องแคล่ว ความคิดริเริ่ม ความคิดยืดหยุ่นของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หลังได้รับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น สูงกว่าก่อนการจัดการเรียนรู้
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของสารโดยใช้รูปแบบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (x-bar = 4.66, S.D. = 0.62)