การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการเรียนรู้
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการดำเนินงาน การเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ในระดับบุคคล กลุ่มบุคคล และสถานศึกษา รวมทั้งความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาการเรียนรู้ที่ยึดปัญหาเป็นฐานในโรงเรียนเทศบาล 2 (รัฐราษฎร์บำรุง) เทศบาลตำบลโนนสูง จังหวัดนคคราชสีมา โดยระเบียบวิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม จำนวน 2 วงจร กับผู้ร่วมวิจัย 30 คน ดำเนินการวิจัยในวงจรแรกระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 วงจรที่สองระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ถึง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2564
ผลการวิจัย พบว่า การดำเนินงานในขั้นตอนการเตรียมการ การวางแผน การปฏิบัติ การสังเกต และการสะท้อนผล เป็นไปตามที่กำหนด มีการดำเนินงานใน 3 โครงการ คือ (1) โครงการพัฒนาความสามารถในการคิดและตัดสินใจแก้ปัญหาแบบยึดปัญหาเป็นฐาน (2) โครงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้แบบยึดปัญหาเป็นฐาน และ (3) โครงการพัฒนาการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นแบบยึดปัญหาเป็นฐาน ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภาพที่คาดหวังตามเกณฑ์ที่กำหนดที่ระดับ 3.00 ขึ้นไป การเรียนรู้ระดับบุคคล ระดับกลุ่มบุคคล และระดับสถานศึกษา เกิดการเรียนรู้ว่าการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิผลต้องยึดถือหลักการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงาน เกิดองค์ความรู้ใหม่เป็นกรอบแนวคิดเชิงบูรณาการระหว่างกิจกรรมต่างๆ ใน 3 โครงการและกิจกรรมต่างๆ ใน 9 ขั้นตอนของการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม นำเสนอเป็น “กรอบแนวคิดการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการเรียนรู้แบบยึดปัญหาเป็นฐาน: กรณีที่ประสบผลสำเร็จในเทศบาล 2 (รัฐราษฎร์บำรุง) เทศบาลตำบลโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา”