การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์
ความสามารถทางด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ผู้ศึกษาค้นคว้า นางสาวสราวรรณ แต้มต่อผล
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมความสามารถทางด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 2) ศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน และ 3) ขยายผลรูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1/7 โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว สังกัดเทศบาลนครภูเก็ตจำนวน 34 คนภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เครื่องมือ ที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน คู่มือการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้หน่วยการเรียนรู้ แบบประเมินความสามารถทางด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย (x̅) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าทีแบบไม่อิสระ (t - test dependent) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมความสามารถทางด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีชื่อว่า “CLTE” มีองค์ประกอบหลักที่สำคัญในการจัดการเรียนรู้ 4 ด้านที่ต้องคำนึงถึงประกอบด้วย 1. ชุมชน (Community) 2. การจัดการเรียนรู้ (Learning) 3. เทคโนโลยี (Technology) และ 4. การประเมินผล (Evaluation) รูปแบบการจัดการเรียนรู้มี 5 องค์ประกอบได้แก่ 1) หลักการเป็นการเรียนรู้บนฐานของชุมชนโดยคำนึงถึงองค์ประกอบ 4 ด้านของ “CLTE” โดยจัดการเรียนรู้ตามขั้นตอน PSRAA ซึ่งผู้เรียนต้องลงมือปฏิบัติจริงและแก้ปัญหาที่พบในชุมชนด้วยการเรียนรู้ที่หลากหลายและได้ชิ้นงานที่สร้างสรรค์ 2) วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสามารถทางด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 3) ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ PSRAA ประกอบด้วย (1) ขั้นเตรียมความพร้อม (Preparing : P ) (2) ขั้นกลยุทธ์การเรียนรู้ (Strategies : S) (3) ขั้นสู่ผลสะท้อนคิด (Reflection : R) และ (4) ขั้นประเมินประสิทธิผล (Assessing : A ) (5) ขั้นการประยุกต์ใช้ความรู้ (Applying : A ) 4) การวัดและประเมินผลประเมินภาพรวมของรูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน จากการสะท้อนคิดของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายและ 5) เงื่อนไขในการนำรูปแบบไปใช้ให้ประสบผลสำเร็จได้แก่ (1) ชุมชนให้การส่งเสริมสนับสนุนและมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน (2) ผู้เรียนศึกษาข้อมูลพื้นฐานในชุมชนเพื่อเก็บข้อมูลด้วยตนเองฝึกการคิดและการแก้ปัญหาจากสถานการณ์จริงที่พบในชุมชนและ (3) การยืดหยุ่นเวลา ในการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับกิจกรรมนอกห้องเรียน พบว่าการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.38/80.23
2. ประสิทธิผลของรูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน พบว่า 2.1) หลังเรียนตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน นักเรียนมีความสามารถ ด้านการคิดสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ด้านที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดคือการค้นคว้า การแสวงหาคำตอบค้นหาความจริง ด้านที่มีคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุดคือความสามารถในการสรุปผลจากข้อมูลและหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏ 2.2) หลังเรียนตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน นักเรียนมีความสามารถด้านการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 ด้านที่มีคะแนนสูงที่สุดคือการค้นพบแนวคิดและด้านที่มีคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุดคือทักษะ การสร้างสรรค์ความรู้
3. ผลการขยายผลรูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน พบว่าหลังเรียนตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน นักเรียนมีความสามารถทางด้าน การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน อยู่ในระดับมาก