การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ในการคิดวิเคราะห์และจิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้วิจัย นางสมพร น้ำวิวัฒน์
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทศบาล 3 วัดไชนาวาส
อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
ปีที่ศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบ 2.เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพรูปแบบ 3.เพื่อทดลองใช้รูปแบบ 4.เพื่อประเมินประสิทธิผลของรูปแบบ ดังนี้ 1) เปรียบเทียบความสามารถในการคิดวิเคราะห์ 2.ศึกษาจิตวิทยาศาสตร์ หลังเรียน 3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 4) ศึกษาความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 จำนวน 37 คน ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนเทศบาล 3 วัดไชนาวาส เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คู่มือการใช้รูปแบบ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แบบวัดจิตวิทยาศาสตร์ แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบประเมินความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยคำนวณหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสถิติ t-test dependent และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1.ในการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ควรได้รับการส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และพฤติกรรมด้านจิตวิทยาศาสตร์
2.รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์และ จิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ชื่อว่า PORN Model มีองค์ประกอบคือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการจัดการเรียนรู้ และเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ กระบวนการจัดการเรียนรู้มี 4 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นเตรียมความพร้อม (Preparation: P) 2) ขั้นดำเนินการ (Operation: O) 3) ขั้นตอบสนองการเรียนรู้ (Response: R) 4) ขั้นสร้างองค์ความรู้ใหม่ (New knowledge: N) โดยพบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.76/83.87 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
3.ทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เรื่อง ระบบร่างกายมนุษย์ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง โดยครูศึกษาคู่มือการใช้รูปแบบ และแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 8 แผน
4.ทำการประเมินประสิทธิผล มี 4 ด้าน คือ
1) ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 หลังเรียนอยู่ในระดับสูง และสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05
2) นักเรียนมีจิตวิทยาศาสตร์ หลังเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด
3) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน หลังเรียนอยู่ในระดับสูง และสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05
4) ความพึงพอใจของนักเรียนต่อการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ อยู่ในระดับมากที่สุด