รายงานผลการพัฒนารูปแบบการบริหารงานแบบโรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่
ผู้วิจัย กิตติชัย แผ่นจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบัวเชดวิทยา
ปีที่ทำวิจัย 2561-2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านมีวินัยของนักเรียนโรงเรียนบัวเชดวิทยา จังหวัดสุรินทร์ 2) เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารงานแบบโรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่เพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านมีวินัยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบัวเชดวิทยา จังหวัดสุรินทร์ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการบริหารงาน และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง การวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านมีวินัยของนักเรียนโรงเรียนบัวเชดวิทยา จังหวัดสุรินทร์ ระยะที่ 2 การสร้างและพัฒนารูปแบบการบริหารงานแบบโรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่เพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านมีวินัยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบัวเชดวิทยา จังหวัดสุรินทร์ ระยะที่ 3 การศึกษาผลของการใช้รูปแบบการบริหารงาน และระยะที่ 4 การศึกษาความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้องหลังจากการใช้รูปแบบการบริหารงาน โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการวิจัย ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 108 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 13 คน นักเรียน จำนวน 269 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 269 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) แบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน 2) แบบประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของรูปแบบการบริหารงาน 3) แบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านมีวินัยของนักเรียน และ 4) แบบประเมินความพึงพอใจ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบัวเชดวิทยา จังหวัดสุรินทร์ โดยรวมอยู่ในระดับมาก และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านมีวินัยของนักเรียนที่จะต้องพัฒนา จำนวน 6 ด้าน คือ ด้านการแสดงความเคารพ ด้านการแต่งกาย ด้านการตรงต่อเวลา ด้านความสะอาด ด้านความรับผิดชอบ และด้านความอดทน
2. ผลการประเมินความเป็นไปได้และความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารงาน โดยรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด
3. รูปแบบการบริหารงานแบบโรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่เพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านมีวินัยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบัวเชดวิทยา จังหวัดสุรินทร์ มีองค์ประกอบหลัก 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) บริบท 2) ปัจจัยนำเข้า 3) กระบวนการ 4) ผลผลิต และ 5) ผลย้อนกลับ
4. ผลการเปรียบเทียบคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านมีวินัยของนักเรียน โดยใช้การทดสอบค่าที (t-test) พบว่า หลังการใช้รูปแบบมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.01
5. ผลการประเมินความพึงพอใจของครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียน ที่มีต่อรูปแบบการบริหารงาน โดยรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด และผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียน โดยรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก