วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)
ชื่อผู้พัฒนา ว่าที่ ร.ต.หญิง จุฑามณี ไชยสงคราม
โรงเรียน ภูเก็ตวิทยาลัย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๑๔
โทรศัพท์ ๐๗๖-๒๑๒-๐๗๕ โทรศัพท์มือถือ ๐๙๕-๗๘๗-๗๕๔๘
E-mail : kwangxiaotian@gmail.com
๑. ความสำคัญของผลงานหรือนวัตกรรมที่นำเสนอ
วัฒนธรรม หมายถึง ความเจริญงอกงาม ซึ่งเป็นผลจากระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์
มนุษย์กับสังคม และมนุษย์กับธรรมชาติ จำแนกออกเป็น 3 ด้าน คือ จิตใจ สังคม และวัตถุ มีการสั่งสม
และสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จากสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่ง จนกลายเป็นแบบแผนที่สามารถ เรียนรู้และก่อให้เกิดผลิตกรรมและผลิตผล ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม อันควรค่าแก่การวิจัย อนุรักษ์ ฟื้นฟู ถ่ายทอด เสริมสร้างเอตทัคคะ และแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างดุลยภาพแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สังคม และธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอย่างมีสุข สันติสุข และอิสรภาพ อันเป็นพื้นฐานแห่งอารยธรรมของมนุษยชาติ (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2535) นาฏศิลป์ไทย ก็จัดว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ที่แสดงออกถึงความเจริญงอกงาม และแสดงออกถึงความมีวัฒนธรรมของคนในชาติ
ปัจจุบันสังคมไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสื่อสารไร้พรมแดน ซึ่งจะเห็นว่าดนตรี
และศิลปะการแสดงของต่างประเทศกำลังเผยแพร่ติดต่อและแลกเปลี่ยนกันไปทั่วโลก นาฏศิลป์ไทย
เป็นศาสตร์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมศาสตร์หนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญ และถือเป็นสมบัติชิ้นสำคัญอย่างหนึ่ง
ของไทย เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นชาติไทย ความเป็นอิสระ เนื่องจากนาฏศิลป์ไทยนั้นมีการสร้าง สั่งสม
และพัฒนามาอย่างยาวนาน ดังนั้นเราควรที่จะปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ให้มีความภาคภูมิใจ
ในศิลปะการแสดงของไทย โดยเฉพาะการแสดงนาฏศิลป์ การจับระบำ รำ ฟ้อน ที่ได้รับการสืบทอดมรดก
ทางวัฒนธรรมมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลานในปัจจุบัน เพราะชาติใดก็ตามถ้ายังมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง โอกาส
ที่จะถูกกลืนชาติก็ย่อมเป็นไปได้ยาก จะเห็นได้ว่านาฏศิลป์ไทยเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งเป็นของดีที่ควรสืบเนื่องและต้องถ่ายทอดให้เยาวชนรุ่นต่อไป
นาฏศิลป์ไทย นอกจากจะมีคุณค่าในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว ยังมีประโยชน์สำหรับผู้เรียนมีส่วนช่วยพัฒนามนุษย์ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์และสังคม เพราะเป็นวิชาที่เน้นทักษะภาคปฏิบัติ กิจกรรมนาฏศิลป์เป็นการใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกายในการเคลื่อนไหวท่าทางต่าง ๆ จึงส่งผลให้ ผู้ที่ได้ฝึกหัดเป็นผู้มีสุขภาพสมบูรณ์ จิตใจร่าเริงแจ่มใสและมีบุคลิกภาพที่ดี ตลอดจนพัฒนาให้ผู้ที่ได้ศึกษา
เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ค้นพบศักยภาพในตนเอง มีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัยและสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข จึงกล่าวได้ว่า ศิลปะการแสดงดนตรีและการฟ้อนรำ นอกจากแสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่และเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นแล้ว ยังถือเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติอีกด้วย
โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่มาตรฐานสากล ส่งเสริมทักษะวิชาการของนักเรียนทุกด้าน และมีการใช้สื่อเทคโนโลยีอย่างมีคุณค่า รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมชุมชนให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ร่วมอนุรักษ์ เผยแพร่ พัฒนาแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัก สถานศึกษา จึงจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนอย่างหลากหลาย โดยกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะนั้นมุ่งเน้นให้พัฒนาให้มีความรู้ คุณธรรม จริยธรรม ได้แสดงออกอย่างเต็มศักยภาพ และเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ โดยมีทักษะพื้นฐานทางด้านทัศนศิลป์ ดนตรี และนาฏศิลป์ สามารถถ่ายทอดความคิด จิตนาการให้ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนรักความเป็นไทยที่นักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างเหมาะสม กล่าวคือ กิจกรรมนาฏศิลป์ของนักเรียนเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สถานศึกษาจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมทักษะทางด้านนาฏศิลป์ เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะในการปฏิบัตินาฏศิลป์ที่ถูกต้องตามแบบฉบับกรมศิลปกรที่เป็นต้นแบบของการแสดง ผู้เรียนมีสุนทรียภาพทางด้านนาฏศิลป์ และ กล้าแสดงออกในทางสร้างสรรค์ อนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ และสืบสาสานศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งในยุคปัจจุบันการแสดงนาฏศิลป์เป็นการแสดงมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษนับวันยิ่งจางหาย ดังนั้นการปลูกจิตสำนึก
ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ให้มีความภาคภูมิใจในศิลปะการแสดงของไทย จึงเป็นหน้าที่หลักของกลุ่มสาระ
การเรียนรู้ศิลปะ โดยเฉพาะนาฏศิลป์นาฏศิลป์ จะต้องสืบทอดทางวัฒนธรรมถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
กิจกรรมส่งเสริมความเป็นเลิศทางนาฏศิลป์ ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
มีสุนทรียภาพ และจิตใจที่อ่อนโยน กล้าแสดงออกในทางสร้างสรรค์ มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้กับนักเรียน
ในการร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม เกิดความรักและความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น
การสืบสานนาฏศิลป์จะเป็นไปอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้อันก่อให้เกิดความเข้าใจ พัฒนาทักษะ และสร้างความตระหนักในคุณค่าของการแสดงนาฏศิลป์แก่ผู้เรียน ผู้สอนจึงบูรณาการจิตวิทยาการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ โดยใช้วิธีการเรียนการสอน การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning)
และมองการเรียนรู้ตามกรวยประสบการณ์ (Cone of Experience) 11 ขั้น ของ Edgar Dale เพื่อสร้าง
ความเข้าใจ พัฒนาทักษะ และเกิดความภาคภูมิใจในผลงานของตนเพื่อพัฒนาทักษะนาฏศิลป์สู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นการปลูกฝังให้นักเรียนรู้สึกรักและหวงแหน ในมรดกวัฒนธรรมของไทย
๒. จุดประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน
จุดประสงค์
๑. เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะในการปฏิบัตินาฏศิลป์ที่ถูกต้องตามแบบฉบับกรมศิลปกร
๒. เพื่อให้ผู้เรียนมีสุนทรียภาพทางด้านนาฏศิลป์ และกล้าแสดงออกในทางสร้างสรรค์
๓. เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของไทย
เป้าหมาย
๑. นักเรียนมีความสามารถพิเศษและมีความสนใจทางด้านนาฏศิลป์ จำนวน 30 คน
๒. เพื่อเตรียมความพร้อมนักเรียนในการเข้าร่วมแข่งขันทักษะวิชาการ และแสดงทักษะทางด้านนาฏศิลป์ (นาฏศิลป์)
๓. เพื่อให้นักเรียนเป็นผู้อนุรักษ์ส่งเสริม เผยแพร่และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของไทย
๓. กระบวนการผลิตงาน หรือขั้นตอนการดำเนินงาน
๓.๑ สมัครใจเข้าเรียน
- ประชาสัมพันธ์รับสมัครนักเรียนที่มีความสามารถ มีความสนใจ และมีใจรักทางด้านนาฏศิลป์เข้าร่วมชุมนุมนาฏศิลป์
- ปลูกฝัง และสร้างค่านิยมระหว่างเรียนในคาบพื้นฐาน เพื่อให้นักเรียนเกิดความสนใจอยากเข้าชุมนุมนาฏศิลป์โดยใช้ ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยง (Connectionism Theory) ของธอร์นไดค์
๓.๒ เรียนรู้แบบร่วมมือ โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning)
แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน จากพี่สู่น้อง โดยครู
- “พี่” สอนทักษะพื้นฐานการรำเบื้องต้น (นาฏยศัพท์และภาษาท่า) กิจกรรมพี่สอนน้อง โดยพี่ที่มีทักษะทางนาฏศิลป์ถ่ายทอดท่ารำเป็นกลุ่มต่าง ๆ อีกทั้งสอนเทคนิคการแสดงต่าง ๆ ให้กับรุ่นน้อง
- “ครู” เป็นผู้ให้คำแนะนำ เพื่อการพัฒนาในขั้นตอนต่อไป
๓.๓ เสริมสร้างทักษะและประสบการณ์
“การที่จะรำสวยได้นั้น ต้องเกิดจากการเรียนรู้ที่มาจากการฝึกซ้ำ ๆ จนเกิดทักษะความชำนาญ” ซึ่งสอดคล้องกับ ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยง (Connectionism Theory) ของธอร์นไดค์ เป็นทฤษฎีการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับการฝึกหัดหรือการกระทำซ้ำๆ และยังให้ความสำคัญของการให้รางวัลหรือการลงโทษ ความสำเร็จหรือความผิดหวังและความพอใจหรือความไม่พอใจแก่ผู้เรียนอย่างทัดเทียมกัน อีกทั้งยังเน้นที่ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้า (Stimulus) กับการตอบสนอง (Response) ตามลำดับขั้นตอน ดังนี้
๑) กฎแห่งผล (law of effect) สร้างแรงจูงใจ ในการเห็นคุณค่าของตนเองว่าเป็นบุคคล
ที่มีความสามารถ มีโอกาสที่จะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากครู รวมถึงการที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้แสดง ทำให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้น และมีความตั้งใจในการเรียนรู้ ส่งผลให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
๒) กฎแห่งความพร้อม (law of readiness) เมื่อนักเรียนมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ ครูจึงทำการจัดการเรียนรู้ โดยให้นักเรียนเรียนรู้การแสดงนาฏศิลป์ไทย ตามประสบการณ์การเรียนรู้จากรูปธรรม
ไปสู่นามธรรม ตาม “กรวยประสบการณ์ ( Cone of Experience )” ๑๑ ขั้น ของ Edgar Dale ดังนี้
ขั้นนามธรรม
- ครูอธิบายความรู้เกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทยพร้อมทั้งให้นักเรียนชมภาพการแสดงต่าง ๆ
ขั้นสื่อภาพ
- ครูเปิดเพลงให้นักเรียนหัดร้อง รวมทั้งเปิดสื่อวิดิทัศน์ให้นักเรียนชมประกอบการเรียนรู้
ขั้นปฎิบัติ
- ครูให้นักเรียนชมการแสดงจากรุ่นพี่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้
ที่จะปฏิบัติได้ และรำให้สวยอย่างพี่
- ครูแนะนำให้นักเรียนศึกษาจากแหล่งเรียนรู้นอกสถานที่เมื่อมีโอกาส เช่น เมื่อมีการแสดงตามงานต่าง ๆ และศึกษาเรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นพื้นบ้านในรายวิชาเพิ่มเติม
- ครูสาธิตกระบวนท่ารำให้นักเรียนดู และให้นักเรียนปฏิบัติตามทีละท่า โดยการฝึกปฏิบัติซ้ำ ๆ ให้เกิดความชำนาญ และคอยชี้แนะให้นักเรียนปฏิบัติได้ถูกต้อง
- ครูสร้างสถานการณ์สมมติให้นักเรียนมีความกล้าแสดงออกในการแสดงและรู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อเกิดปัญหาระหว่างแสดง
- ครูให้นักเรียนจัดการแสดงสมจริง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียน เช่น ทำการแสดงตามบริเวณต่าง ๆ ของโรงเรียน พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก้ไขแก่นักเรียนเพื่อใช้ในการปรับปรุงพัฒนาตนเองต่อไป เพื่อรองรับการแสดงจริงงานในงานต่าง ๆ ตามโอกาสสมควร
- ครูคอยชี้แนะและให้คำชมเชยเมื่อผู้เรียนปฏิบัติได้ดี การเสริมแรงมีความสำคัญในการช่วยให้ผู้รับการถ่ายทอดเกิดความรู้สึกกระตือรือร้นที่จะได้รับการเรียนรู้ และแสดงพฤติกรรมตอบสนองในทางที่ดี ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้องและแม่นยำ
๓) กฎแห่งการฝึกหัด (law of exercise) ให้นักเรียนฝึกทักษะการแสดงนาฏศิลป์เมื่อมีเวลาว่างเป็นประจำและสม่ำเสมอ เพื่อฝึกฝนทักษะท่ารำให้สวยงามตามแบบแผน จดจำท่ารำได้ถูกต้อง และเกิดการเรียนรู้ที่คงทน การที่ผู้เรียนจะมีท่ารำที่สวยงานได้นั้น ต้องฝึกฝนและทบทวนท่ารำอย่างสม่ำเสมอ
และฝึกทักษะการแสดงในสถานการณ์จริงก็จะทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ ส่งผลให้สามารถปรับตัว
เข้ากับสถานที่แสดงจริงได้ และเป็นการฝึกปฏิภาณไหวพริบเพื่อสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้โดยเกิด
การเรียนรู้ด้วยตัวเอง
นอกจากผู้เรียนจะได้รับความรู้แล้ว ก็จะต้องประเมินความสามารถของตนเองได้ และพร้อมที่จะปรับปรุงข้อบกพร่องของตนเอง โดยครูจะให้ผู้เรียนได้ทดลองฝึกซ้อมบนเวทีการแสดงจัดองค์ประกอบ
ให้เหมือนจริงและบันทึกภาพและวิดิโอเพื่อให้ผู้เรียนได้ดูที่บันทึกไว้ และร่วมกันแสดงความคิดเห็นและแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง จากนั้นก็ให้ผู้เรียนได้ฝึกซ้อมอีกครั้งและทำการบันทึกเช่นเดิมเพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของตนเอง จนสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องและสมบูรณ์แบบมากที่สุด
นอกจากนี้ ครูและนักเรียนมีการเข้าร่วมโครงการอบรมด้านนาฏศิลป์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเอง มากยิ่งขึ้น โดยรับการถ่ายทอดจากต้นแบบโดยตรง สามารถทำให้รำได้ถูกต้องตามแบบแผน
กรมศิลปกร
๓.๔ พร้อมนำเสนอผลงาน
เมื่อผู้เรียนมีความพร้อมและสามารถปฏิบัตินาฏศิลป์ตามแบบแผน ผู้เรียนก็สามารถเข้าร่วมนำเสนอผลงานในวันกิจกรรมวันสำคัญต่างๆ ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนและเข้าร่วมประกวดแข่งขันกิจกรรมที่หน่วยงานต่างๆจัดขึ้น ส่งผลให้เกิดความภูมิใจผลงานของตนเอง
รูปแบบการเรียนรู้ให้เกิดวิธีปฏิบัติที่ดีนั้น สัมพันธ์กัน กับ ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยง (Connectionism Theory) ของธอร์นไดค์ โดยใช้วิธีการเรียนการสอน การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) และทำการจัดการเรียนรู้ โดยให้นักเรียนเรียนรู้การแสดงนาฏศิลป์ไทย ตามประสบการณ์การเรียนรู้ จากรูปธรรมไปสู่นามธรรม ตาม “กรวยประสบการณ์ (Cone of Experience)” ๑๑ ขั้น ของ Edgar Dale ซึ่งสามารถบูรณาการสัมพันธ์เชื่อมโยงกันได้อย่างครอบคลุม
๔. ผลการนำเนินงาน
ผลจากการดำเนินงานกิจกรรมนาฏศิลป์โดยใช้หลักจิตวิทยาการเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศของนักเรียน พบว่านักเรียนมีความสามารถและมีทักษะในการปฏิบัตินาฏศิลป์ได้อย่างสวยงาม ถูกต้องตามแบบแผน
ส่งผลให้การแสดงเป็นที่รู้จักได้รับการยอมรับจากชุมชน บุคคลทั่วไป และองค์กรต่าง ๆ ดังนี้
ด้านผู้เรียน นักเรียนมีทักษะการแสดงที่ดี สามารถปฏิบัตินาฏศิลป์ตามโอกาสต่าง ๆ ได้ มีความกล้าแสดงออกในทางสร้างสรรค์ รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีสุนทรียภาพทางด้านนาฏศิลป์ มีความมั่นใจในตนเอง เกิดความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในศิลปวัฒนธรรมของชาติ ร่วมกันอนุรักษ์ สืบสานและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทย
ด้านครู ปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ สืบสาน จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เกิดผลกับนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ นำผลงานนักเรียนมาบูรณาการกับกิจกรรมต่างๆของโรงเรียน และองค์ภายนอกของโรงเรียน จากผลงานการจัดกิจกรรมดังกล่าวทำให้ครูได้รับการยอมรับจากชุมชน และหน่วยงานอื่น ๆ เป็นอย่างดี รวมถึงเป็นคณะกรรมการ ในการแข่งขันต่าง ๆ
ด้านชุมชน ผู้ปกครองและบุคลในชุมชนให้การรับสนับสนุนการแสดงของนักเรียน มีความภาคภูมิใจในตัวบุตรหลาน ในผลสำเร็จทางด้านการแสดงนาฏศิลป์ ที่มีโอกาสนำเสนอผลงานการแสดงการสื่อสารต่าง ๆ
นำชื่อเสียงมายังชุมชน
๕. ปัจจัยผลสำเร็จ
๑. คณะผู้บริหารให้การสนับสนุน ส่งเสริมด้านงบประมาณและให้กำลังใจเป็นอย่างดี
๒. ครูทุกคนให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมปฏิบัตินาฏศิลป์สู่ความเป็นเลิศของนักเรียน
๓. นักเรียนให้ความร่วมมือ และมีความพร้อมในการจัดกิจกรรม
๔. ผู้ปกครอง ชุมชน ชื่นชมยินดีและพึงพอใจพร้อมให้การสนับสนุนกิจกรรมเป็นอย่างดี
๕. ความร่วมมือของรุ่นพี่ ในการช่วยเหลือดูแลรุ่นน้อง (นักเรียน)
๖. บทเรียนที่ได้รับ (Lesson Learned)
การดำเนินงานกิจกรรมนาฏศิลป์โดยใช้หลักจิตวิทยาการเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศของนักเรียน เป็นการพัฒนานักเรียนโดยผ่านกิจกรรมการเรียนที่บูรณาการสู่การปฏิบัติ โดยเริ่มจากครูผู้สอนต้องเข้าใจทฤษฎีจิตวิทยาการเรียนรู้ เพื่อใช้ประยุกต์ระหว่างจัดการเรียนรู้ในการถ่ายทอดท่ารำทีละขั้นตอน และฝึกฝน
จนผู้เรียนเกิดความชำนาญ ทั้งนี้ ครูจึงต้องเป็นผู้เสียสละ ทุ่มเท และอุทิศตนในการฝึกซ้อม และต้องรู้จักการใช้จิตวิทยาการเรียนรู้เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจในผลงานของตน เพื่อพัฒนาทักษะนาฏศิลป์สู่ความเป็นเลิศได้อย่างยั่งยืน อีกทั้ง สร้างความตระหนักให้นักเรียนมีความรู้สึกรักและหวงแหน ในมรดกวัฒนธรรมของไทย และเห็นคุณค่าของนาฏศิลป์ให้คงอยู่สืบไปได้
แนวทางการพัฒนา
สามารถใช้ทฤษฎีและรูปแบบการเรียนรู้อื่น ๆ มาใช้ในการพัฒนา เพื่อนำกิจกรรมปฏิบัตินาฏศิลป์โดยใช้หลักจิตวิทยาการเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศของนักเรียน ไปบูรณาการกับกิจกรรมอื่น ๆ ตามความสนใจ
อีกทั้งสามารถบูรณาการเข้ากับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้
๗. การเผยแพร่ / การได้รับการยอมรับ / รางวัลที่ได้รับ
- นำนักเรียนบริการชุมชม ในการจัดการแสดงในงานกิจกรรมวันสำคัญต่าง ๆ ที่โรงเรียนและชุมชน
จัดขึ้น รวมทั้งจัดการแสดงเนื่องในโอกาสต่างๆ อีกทั้งเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไปในตัวด้วย เช่น วันครู
วันภาษาไทยแห่งชาติ วันแม่แห่งชาติ วันพ่อแห่ง งานเลี้ยงต้อนรับระดับโรงเรียน และระดับเขตพื้นที่ฯ
งานเกษีนณอายุราชการ เป็นต้น
การได้รับการยอมรับ / รางวัลที่ได้รับ
๑. ร่วมแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอนทศกัณฐ์รบพระราม เนื่องในพิธีถวายดอกไม้จันทน์
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ณ บริเวณพระเมรุมาศจำลอง เวทีกลางสะพานหิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต
๒. ได้รับรางวัลเหรียญทองชนะเลิศจากกิจกรรมนาฏศิลป์ในการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรม
ระดับเขตพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และได้ไปแข่งขันต่อในระดับภาคใต้ทุกปี นับตั้งแต่ได้ย้ายมาปฏิบัติราชการ
- ครูผู้สอนนักเรียนได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง การแข่งขันระบำมาตรฐาน ระดับ
ชั้นม.๑ – ม.๓ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ภาคใต้ ครั้งที่ ๖๔
- ครูผู้สอนนักเรียนได้รับรางวัลระดับเหรียญเงิน การแข่งขันนาฏศิลป์ไทยสร้างสรรค์ ระดับชั้น ม.๔ – ม.๖ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ภาคใต้ ครั้งที่ ๖๔
- ครูผู้สอนนักเรียนได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง การแข่งขันนาฏศิลป์ไทยสร้างสรรค์ ระดับชั้น ม.๑ – ม.๓ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ภาคใต้ ครั้งที่ ๖๕
- ครูผู้สอนนักเรียนได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง การแข่งขันระบำมาตรฐาน ระดับชั้น
ม.๔ – ม.๖ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ภาคใต้ ครั้งที่ ๖๕
- ครูผู้สอนนักเรียนได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง การแข่งขันนาฏศิลป์ไทยอนุรักษ์ ระดับชั้น
ม.๑ – ม.๓ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ภาคใต้ ครั้งที่ ๖๖
- ครูผู้สอนนักเรียนได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง การแข่งขันระบำมาตรฐาน ระดับชั้น
ม.๔ – ม.๖ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ภาคใต้ ครั้งที่ ๖๖
- ครูผู้สอนนักเรียนได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง การแข่งขันนาฏศิลป์ไทยอนุรักษ์ ระดับชั้น
ม.๑ – ม.๓ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ภาคใต้ ครั้งที่ ๖๗
- ครูผู้สอนนักเรียนได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง แข่งขันระบำมาตรฐาน ระดับชั้น
ม.๑ – ม.๓ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ภาคใต้ ครั้งที่ ๖๗
- ครูผู้สอนนักเรียนได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง แข่งขันระบำมาตรฐาน ระดับชั้น
ม.๔ – ม.๖ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ภาคใต้ ครั้งที่ ๖๗
๓. สถานศึกษามีนักเรียนผ่านการคัดเลือกเข้ารับการทดสอบความสามารถนาฏศิลป์ โครงการพัฒนาทักษะความสามารถด้านนาฏศิลป์ รุ่นที่ ๔ โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ โรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา กรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี เข้ารอบระดับประเทศ จำนวน ๕ คน
- ครูผู้ฝึกซ้อมนักเรียนผ่านเข้ารอบ ทดสอบความสามารถด้านนาฏศิลป์ ณ โรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา กรุงเทพฯ จ.ปทุมธานี (เข้ารอบระดับประเทศ)