รูปแบบการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษา
ชื่อผู้วิจัย ศุภชาติ ชาวพงษ์
ปีที่วิจัย 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1).เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน ความต้องการและแนวทางการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นต้นแบบของโรงเรียนมัธยมดงยาง 2) เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารจัดโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นต้นแบบของโรงเรียนมัธยมดงยาง 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นต้นแบบของโรงเรียนมัธยมดงยาง และ 4) เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นต้นแบบของโรงเรียนมัธยมดงยาง ใช้การวิจัยและพัฒนา กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นการกำหนดตามความสอดคล้องกับกระบวนการของการวิจัย 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 ประกอบด้วย
1) กลุ่มเป้าหมายในการศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการ ของการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นต้นแบบของโรงเรียนมัธยมดงยาง ได้แก่ ครูปฏิบัติการสอนในโรงเรียนมัธยมดงยาง จำนวน 16 คน โดยการใช้แบบสอบถามความคิดเห็นเครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับที่มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.86 วิเคราะห์โดยใช้สถิติ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2) กลุ่มเป้าหมายในการศึกษาความต้องการและแนวทางการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นต้นแบบของโรงเรียนมัธยมดงยาง ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน โดยการสัมภาษณ์ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ขั้นตอนที่ 2 กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการตรวจสอบความเหมาะสมและความเป็นไปได้ขององค์ประกอบของรูปแบบ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบมีปฏิสัมพันธ์ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ขั้นตอนที่ 3 กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินทดลองใช้รูปแบบได้แก่ ครูที่สอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 16 คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่
1-6 จำนวน 184 คน ของโรงเรียนมัธยมดงยาง โดยใช้แบบสอบถามความคิดเห็นเครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับที่มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.80 วิเคราะห์โดยใช้สถิติ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ขั้นตอนที่ 4 กลุ่มเป้าหมายในการพัฒนารูปแบบ ได้แก่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาของโรงเรียนมัธยมดงยาง จำนวน 64 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง ด้วยการดำเนินการจัดประชา-พิจารณ์แล้วตอบแบบสอบถามความคิดเห็นโดยใช้แบบสอบถามความคิดเห็น เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับที่มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.84 วิเคราะห์โดยใช้สถิติ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพปัจจุบัน ความต้องการและแนวทางของการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นต้นแบบของโรงเรียนมัธยมดงยางในภาพรวม อยู่ในระดับปานกลาง ความต้องการในการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นต้นแบบของโรงเรียนมัธยมดงยางอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนแนวทางที่ควรจัดในโรงเรียนต้องเป็นแนวทางที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความสนใจ จะต้องให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองมากที่สุด โดยโรงเรียนต้องจัดแหล่งเรียนรู้ ที่หลากหลาย จัดสภาพแวดล้อม ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ ห้องสมุดที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ให้ผู้เรียนและควรกำหนดไว้ในโครงสร้างหลักสูตรหรือแผนพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน
2. รูปแบบการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นต้นแบบของโรงเรียนมัธยมดงยาง ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ 8 แนวทาง 38 รายการย่อย และผลการประเมินรูปแบบการดำเนินการตามรูปแบบจากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของรูปแบบการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นต้นแบบของโรงเรียนมัธยมดงยาง มีความเหมาะสม ชัดเจน และมีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้เนื่องจากเป็นรูปแบบที่ได้เรียนรู้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริง เรียนรู้จากการปฏิบัติด้วยตนเอง มีกิจกรรมหรือการเรียนรู้ให้นักเรียนเลือกเรียนหลากหลายและตามความสนใจ
3. รูปแบบการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นต้นแบบของโรงเรียนมัธยมดงยางโดยภาพรวม มีการปฏิบัติ/เห็นด้วยอยู่ในระดับ มากที่สุด และการสอบถามความพึงพอใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาโดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นต้นแบบของโรงเรียนมัธยมดงยาง มีความพึงพอใจโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุดเช่นกัน ทั้งนี้ เนื่องจากรูปแบบการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นต้นแบบของโรงเรียนมัธยมดงยางในโรงเรียนมีความหลากหลาย มีความเหมาะสมกับนักเรียนและสามารถเรียนรู้ได้ตามความสนใจ นักเรียนได้รับความรู้จากการประกอบกิจกรรมที่สอดคล้องกับชีวิตจริง นักเรียนได้รับรู้ข่าวสารทันต่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงของสังคมนอกจากนี้ครูก็มีแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับนักเรียน ครูและนักเรียนมีปฎิสัมพันธ์กันมากขึ้นมีการเรียนรู้ด้วยกันตลอดเวลาโดยผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
4. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาโดยภาพรวมเห็นด้วยกับรูปแบบการจัดการศึกษาโดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นต้นแบบของโรงเรียนมัธยมดงยาง อยู่ในระดับมากที่สุด ที่เป็นเช่นนี้เพราะการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นต้นแบบของโรงเรียนมัธยมดงยาง มีขั้นตอนการพัฒนารูปแบบที่ชัดเจน มีรูปแบบการดำเนินการที่สอดคล้องการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ แนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานและหลักการของการเรียนรู้