รายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
เรื่อง : รายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
โรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3
หน่วยงาน : โรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3
ผู้รายงาน : นายพิชัยวัฒน์ ต้นแก้ว
ปีที่พิมพ์ : 2564
……………………………………………………………………………………………………….
รายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียน บ้านโป่งน้ำร้อน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 โดยใช้รูปแบบ CIPPIEST Model มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบทหรือสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) ประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) และประเมินผลผลิต (Product Evaluation) ซึ่งด้านผลผลิตประกอบด้วยส่วนขยายดังนี้ ประเมินผลกระทบ (Impact Evaluation) ประเมินประสิทธิผล (Effectiveness Evaluation) ประเมินความยั่งยืน (Sustainability Evaluation) และประเมินการถ่ายทอดส่งต่อ (Transportability Evaluation) ทั้งนี้เพื่อนำผลการประเมิน ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา และปรับปรุงการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มประชากร ประกอบด้วย ครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน จำนวน 17 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน นักเรียน จำนวน 224 คน และผู้ปกครอง จำนวน 162 คน รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม แบบบันทึกเนื้อหา วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา สามารถสรุปผล อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ ดังนี้
สรุปผลการประเมิน
ผลการประเมินผลโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 โดยใช้รูปแบบ CIPPIEST Model สรุปผลดังนี้
1. ผลการประเมินบริบทหรือสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) ตามความคิดเห็นของครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยรวมอยู่ในระดับได้ผลดีมากที่สุด ซึ่งค่าเฉลี่ยสูงสุดสองอันดับแรก ได้แก่ ออกแบบเป้าหมายที่สามารถวัดได้ชัดเจน และโครงการที่พัฒนามีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน ตามลำดับ
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ตามความคิดเห็นของครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยรวมอยู่ในระดับได้ผลดีมากที่สุด ซึ่งค่าเฉลี่ยสูงสุดสองอันดับแรก ได้แก่ ครูระบบการดูแลช่วยหลือนักเรียนที่กำหนดในโครงการ มีความเหมาะสม และครูระบบการช่วยเหลือนักเรียนมีความกระตือรือร้น มุ่งมั่นในการทำงาน ตามลำดับ
3. ผลการประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) ตามความคิดเห็นของครูระบบ การดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยรวมอยู่ในระดับได้ผลดีมากที่สุด เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยตามกระบวนการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ดังนี้ ลำดับแรกด้านการพัฒนาและส่งเสริมนักเรียน ค่าเฉลี่ยสูงสุดในกระบวนการนี้คือ มีการจัดกิจกรรมโฮมรูมเพื่อส่งเสริมนักเรียนอย่างสร้างสรรค์ ลำดับที่สอง คือ ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหา ค่าเฉลี่ยสูงสุดในกระบวนการนี้คือ มีแนวทาง การจัดกิจกรรมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียนอย่างหลากหลาย ถัดมาค่าเฉลี่ยเท่ากันคือ ด้านการคัดกรองนักเรียน ค่าเฉลี่ยสูงสุดในกระบวนการนี้คือ มีการสรุปแบ่งกลุ่มการคัดกรองนักเรียนอย่างเป็นระบบ และด้านการส่งต่อนักเรียน ค่าเฉลี่ยสูงสุดในกระบวนการนี้คือ มีการประสานงานระหว่างครูระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนกับครูที่ช่วยเหลือนักเรียนอย่างต่อเนื่อง และลำดับสุดท้ายคือ ด้านการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล ค่าเฉลี่ยสูงสุดในกระบวนการนี้คือ ครูสังเกตพฤติกรรมนักเรียน ในชั้นเรียนเป็นระยะ ๆ
4. ผลการประเมินผลผลิต (Product Evaluation) นำเสนอตามส่วนขยายของผลผลิตดังนี้
4.1 ผลการประเมินผลกระทบ (Impact Evaluation) ตามความคิดเห็นของครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับได้ผลดีมากที่สุด ซึ่งค่าเฉลี่ยสูงสุดสองอันดับแรก ดังนี้ อันดับแรก ทั้งครูระบบ การดูแลช่วยเหลือนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง มีความเห็นสอดคล้องกันว่า นักเรียนเรียนรู้ในโรงเรียนอย่างมีความสุข ลำดับถัดมา ครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นว่านักเรียนรู้จักตนเอง ประยุกต์ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเหมาะสม ส่วนนักเรียนและผู้ปกครองเห็นว่า นักเรียนได้รับการดูแลช่วยเหลือ ตรงตามสภาพปัญหา ตามลำดับ
4.2 ผลการประเมินประสิทธิผล (Effectiveness Evaluation)
4.2.1 ผลการประเมินนักเรียนกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มมีปัญหา โรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 หลังจากได้พัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ในปีการศึกษา 2563 มีจำนวนลดลงจากปีการศึกษา 2562 โดยรวมคิดเป็นร้อยละ 41.67 โดยปัญหาที่ลดลงมากที่สุดร้อยละ 100 คือ การถูกละเมิดทางเพศ/กระทำอนาจาร, การถูกทำร้ายร่างกาย และการลักขโมย ส่วนรายการที่ลดลงน้อยที่สุดคือ นักเรียนยากจน ลดลงเพียงร้อยละ 6.25
4.2.2 ผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตร สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อน จำนวน 224 คน พบว่า โดยรวมนักเรียนมีผลการประเมินในระดับดีขึ้นไปเฉลี่ย 207 คน คิดเป็นร้อยละเฉลี่ย 92.35
4.2.3 ผลที่เกิดตามเป้าหมายของโครงการ ตามความคิดเห็นของครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง พบว่า โดยรวม อยู่ในระดับได้ผลดีมากที่สุด ค่าเฉลี่ยสูงสุดในแต่ละประเด็นดังนี้ ด้านการพิทักษ์คุ้มครองและดูแลอย่างทั่วถึง ทั้งครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง มีความเห็นสอดคล้องกันว่า นักเรียนได้รับการปกป้อง คุ้มครอง และแก้ไขปัญหา อย่างเหมาะสม ด้านภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิต และการปรับตัว ครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเห็นว่า นักเรียนสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม ส่วนนักเรียนและผู้ปกครองเห็นว่า นักเรียนมีทักษะ ในการดำรงชีวิต ด้านการพัฒนาตนเองและสังคม ครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเห็นว่า นักเรียนมีจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม ส่วนนักเรียนและผู้ปกครองเห็นว่า นักเรียนสามารถปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดีตามวิถีประชาธิปไตย และด้านการมีพัฒนาการอย่างรอบด้าน ทั้งครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองครอง มีความเห็นสอดคล้องกันว่า นักเรียนสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วยความเต็มใจ
4.3 ผลการประเมินความยั่งยืน (Sustainability Evaluation) ตามความคิดเห็นของครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองพบว่า โดยรวมอยู่ในระดับได้ผลดีมากที่สุด ซึ่งค่าเฉลี่ยสูงสุดสองอันดับแรก ทั้งครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองเห็นสอดคล้องกันว่า อันดับแรกผู้บริหาร และครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนประกาศนโยบายชัดเจน ในการพัฒนา ความเข้มแข็งของโครงการต่อในอนาคต ถัดมาโครงการประสบผลสำเร็จ เกิดประโยชน์เหมาะสม แก่การพัฒนาความเข้มแข็งต่อยอดอย่างยั่งยืน ตามลำดับ
4.4 ผลการประเมินด้านการถ่ายทอดส่งต่อ (Transportability Evaluation) ตามความคิดเห็นของครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับได้ผลดีมากที่สุด ซึ่งค่าเฉลี่ยสูงสุดสองอันดับแรกดังนี้ อันดับแรกทั้งครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง มีความเห็นสอดคล้องกันว่า มีการจัดกิจกรรมนิทรรศการผลงานจากโครงการภายในโรงเรียน ให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถัดมาครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเห็นว่า มีการเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นเข้าศึกษาดูงานโครงการอย่างต่อเนื่อง ส่วนนักเรียนและผู้ปกครองเห็นว่า มีการประชาสัมพันธ์ผลสำเร็จของโครงการในรูปแบบต่าง ๆ ตามลำดับ
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1. ควรสร้างความตระหนัก และแรงจูงใจในการทำงานให้กับครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ก่อนการดำเนินงานโครงการโดยเน้นการยึดเป้าหมายเดียวกัน
2. ควรมีการให้ความรู้แก่ครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ในบทบาทหน้าที่ของการดำเนินงานตามกระบวนการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ให้ครอบคลุมกระบวนการ ทั้ง 5 กระบวนการ คือ ด้านการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล ด้านการคัดกรองนักเรียน ด้านการพัฒนาและส่งเสริมนักเรียน ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหา และด้านการส่งต่อนักเรียน
3. ควรสร้างเครือข่ายการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น
4. ควรดำเนินการนิเทศ กำกับ ติดตาม การดำเนินงานตามโครงการอย่างต่อเนื่อง และ เป็นกัลยาณมิตร
ข้อเสนอแนะในการประเมินครั้งต่อไป
1. ควรมีการวิจัยประเมินผลด้วยวิธีเชิงคุณภาพ โดยเน้นการดำเนินการวิจัยเชิงลึกด้วยการสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม เพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศเชิงลึกที่ทำให้ผลการประเมินมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
2. ควรมีการศึกษาด้านปัญหาและแนวทางการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนที่เปิดทำการสอนต่างระดับกัน ได้แก่ โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนขยายโอกาส ทางการศึกษา และโรงเรียนมัธยมศึกษา
3. ควรมีการศึกษาและเปรียบเทียบการบริหารจัดการโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนที่มีสภาพบริบททั่วไป กับโรงเรียนที่มีนักเรียนหลากหลายชาติพันธุ์
4. ควรมีการศึกษาแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการบริหารจัดการโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนที่นักเรียนมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์