การประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด
ผู้ศึกษา นายสธรรดร ยอดยิ่ง
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ การชำนาญการ
หน่วยงาน โรงเรียนชุมชนวัดแสนตุ้ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด
ระยะเวลาการประเมินโครงการ ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนโรงเรียนชุมชนวัดแสนตุ้งสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตของโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนโรงเรียนชุมชนวัดแสนตุ้งสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด โดยใช้รูปแบบการประเมินตามรูปแบบจำลองของซิปป์ (CIPP Model) หาความเหมาะสมของบริบท ความเหมาะสมของปัจจัยนำเข้า ความเหมาะสมของกระบวนการ และผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมในหลักคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ ได้แก่ ความขยัน ความประหยัด ความซื่อสัตย์ ความมีวินัย ความสุภาพ ความสะอาด ความสามัคคี และความมีน้ำใจ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2563 และประเมินความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีต่อโครงการ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาในครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียน จำนวน 102 คน ผู้ปกครอง จำนวน 102 คน ได้มาจากการสุ่มแบบแบ่งชั้น(Stratified Random Sampling) ตามระดับชั้นของนักเรียน ส่วนครูจำนวน 9 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) รวมทั้งหมด 222 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ได้แก่ แบบสอบถามความคิดเห็นของครู ผู้ปกครองและคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตของโครงการ และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน แล้ววิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย, ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมิน พบว่า
1. การประเมินความคิดเห็นโดยรวมและรายด้านทุกด้านอยู่ในระดับมาก เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านผลผลิต ด้านกระบวนการและด้านบริบท เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ด้านบริบท ความเหมาะสมอยู่ในระดับมากทุกข้อ ด้านปัจจัยนำเข้า ความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 4 ข้อ และความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก จำนวน 6 ข้อ ด้านกระบวนการ ความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 3 ข้อ และอยู่ในระดับมาก จำนวน 7 ข้อ และด้านผลผลิต ความเหมาะสมอยู่ในระดับมากทุกข้อ
2. การประเมินความพึงพอใจโดยรวมและกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มอยู่ในระดับมาก เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง เมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มเป้าหมาย พบว่า ความพึงพอใจของนักเรียนอยู่ในระดับมากที่สุด 1 ข้อ ความพึงพอใจของนักเรียนอยู่ในระดับมากที่สุด 11 ข้อ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยสามลำดับแรก ได้แก่ นักเรียนชอบกิจกรรม “เช้าหน้าเสาธง” นักเรียนปฏิบัติตามกฎของโรงเรียนอย่างเคร่งครัด และนักเรียนแต่งกายชุดนักเรียนสะอาดเรียบร้อย ตามลำดับ ความพึงพอใจของครูอยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 4 ข้อ และอยู่ในระดับมาก จำนวน 6 ข้อ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยสามลำดับแรก ได้แก่ จำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีความเหมาะสม สถานที่มีความเหมาะสมและเอื้อต่อการเรียนรู้ นักเรียนมีคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการที่ดีขึ้น ตามลำดับ ความพึงพอใจของผู้ปกครองอยู่ในระดับมากทั้ง 10 ข้อ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยสามลำดับแรก ได้แก่ นักเรียนมีสติ มีเหตุผลในการใช้ชีวิตประจำวันที่ดีขึ้น สถานที่มีความเหมาะสมและเอื้อต่อการเรียนรู้ พระวิทยากรให้ความรู้เรื่องการปฏิบัติธรรมและเรื่องคุณธรรม จริยธรรมอย่างเหมาะสม ตามลำดับ ความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 3 ข้อ และอยู่ในระดับมาก จำนวน 7 ข้อ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยสามลำดับแรก ได้แก่ พระวิทยากรให้ความรู้เรื่องการปฏิบัติธรรมและเรื่องคุณธรรม จริยธรรมอย่างเหมาะสม งบประมาณที่ใช้มีความเหมาะสม ระยะเวลาที่จัดกิจกรรมมีความเหมาะสม ตามลำดับ