การพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญา
สู่สถานศึกษาพอเพียงของโรงเรียนเทศบาลวัดบูรพาภิราม สังกัดสำนักการศึกษา
เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
ชื่อผู้วิจัย นางฉันทรุจี พรมเกตุ
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะรองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาลวัดบูรพาภิราม สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด
จังหวัดร้อยเอ็ด
ปีที่วิจัย 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การพัฒนาครูในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาพอเพียงของโรงเรียนเทศบาลวัดบูรพาภิราม สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด วัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อพัฒนาครูโรงเรียนเทศบาล วัดบูรพาภิราม สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด ให้มีความรู้ความ เข้าใจ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และสามารถเขียนแผนการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง ได้ ตามกรอบเนื้อหา 4 ขั้นตอน คือ 1) วิเคราะห์หลักสูตรรายวิชา 2) กำหนดหน่วยการเรียนรู้ 3) จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ และ 4) การนำแผนการจัดการเรียนรู้ไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยใช้หลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research Principle) ตามแนวคิดของ Kemmis และ McTaggart ดำเนินการ 2 วงรอบ แต่ละวงรอบ ประกอบด้วย การวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Observation) และ การสะท้อนผล (Reflection) กลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 11 คน ประกอบ ด้วย ครูประจำชั้น ระดับปฐมวัย ประถมศึกษาปีที่ 1,2 ,3 ,4 ,5 และ 6 ซึ่งสอนในโรงเรียนเทศบาลวัดบูรพาภิราม สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด กลุ่มผู้ให้ข้อมูล จำนวน 63 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน วิทยากร จำนวน 1 คน ศึกษานิเทศก์ จำนวน 1 คน และนักเรียน จำนวน 60 คน ได้จากการ เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ห้องละ 10 คนในอัตราส่วน 3 : 4 : 3 คือคนเก่ง 3 คน คนปานกลาง 4 คน และคนอ่อน 3 คน กลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนาคือ การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบทดสอบ แบบสัมภาษณ์ แบบประเมิน แบบสังเกต และแบบสอบถาม การจัดกระทำข้อมูล และการตรวจสอบข้อมูลยึดหลักการตรวจสอบข้อมูล แบบ หลายมิติ (Triangulation) และนำเสนอผลการวิจัยโดยบรรยาย
ผลการวิจัยพบว่า
ผลการพัฒนาบุคลากรในวงรอบที่ 1 โดยใช้กลยุทธ์ในการพัฒนา คือ การประชุม เชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน พบว่า ผู้ร่วมวิจัยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียงและการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเมื่อวิทยากรทำการประเมินการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ผลปรากฏว่า กลุ่มผู้ร่วมวิจัยทั้ง 11 คน สามารถเขียนแผนการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ โดยมีผลการประเมินแผนการจัดการเรียนรู้มีความเหมาะสมในระดับมาก และการนิเทศภายในจากวิทยากร ศึกษานิเทศก์และผู้อำนวยการโรงเรียน ทำการนิเทศแผนการจัดการเรียนรู้ โดยการประเมินแผนการจัดการเรียนรู้และนิเทศการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยสังเกตพฤติกรรมการแสดงออกขณะทำการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ประเมินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้คำแนะนำช่วยเหลือให้คำปรึกษาแก่กลุ่มผู้ร่วมวิจัยจนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 5 ขั้นตอนได้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ และในขั้นประเมินผลการเรียนรู้ให้ครอบคลุมจุดประสงค์การเรียนรู้พบว่าครูขาดการวัดผลประเมินผลการเรียนที่ครอบคลุมทั้งด้านความรู้ ทักษะ กระบวนการ ผลงานและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของผู้เรียน รวมถึงการเสนอแนะแนวทางที่ปฏิบัติแล้วเกิดผลดี กลุ่มผู้ร่วมวิจัยจึงวางแผนการดำเนินการพัฒนาบุคลากรด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของวงรอบที่ 2
ผลการพัฒนาบุคลากรในวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์การนิเทศภายใน พบว่า กลุ่มผู้ร่วมวิจัยสามารถนำแผนการจัดการเรียนรู้ไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางการจัดการเรียนรู้ของกรมวิชาการ 5 ขั้นตอนได้ดี สามารถกำหนดขอบเขตเนื้อหาที่จะสอน และออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับเวลา ลักษณะของกิจกรรมเน้นให้นักเรียน มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้มากที่สุด มีการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสอดแทรก ในกิจกรรมการเรียนรู้ สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งกลุ่มผู้ร่วมวิจัยมีความมั่นใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สามารถเชื่อมโยงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้ากับกิจกรรมการเรียนรู้ นักเรียนสามารถสรุปองค์ความรู้ที่ได้จากกิจกรรมการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนที่ยึดครูเป็นศูนย์กลางมาเป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองได้ และสามารถประเมินผลการเรียนรู้ให้ครอบคลุมจุดประสงค์การเรียนรู้ตามที่กำหนด โดยครูมีการประเมินผลตามสภาพจริงของผู้เรียน ครูวัดและประเมินผลโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเชื่อมโยงกับทักษะความรู้ กระบวนการและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในระดับมาก