รายงานผลการประเมินโครงการการจัดการเรียนรู้ฯ
เศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนวัดโพธิ์ทะเลสามัคคี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสิงห์บุรี
ผู้ประเมิน ธรรมสรณ์ สุศิริ
ปีที่ประเมิน 2562
บทคัดย่อ
รายงานผลการประเมินโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการการจัดการเรียนรู้บูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนวัดโพธิ์ทะเลสามัคคี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสิงห์บุรี โดยใช้รูปแบบการประเมินซีโป (CPO’S Evaluation Model) 3 ด้านได้แก่ ด้านปัจจัยพื้นฐานสภาวะแวดล้อมของโครงการ ด้านกระบวนการปฏิบัติระหว่างดำเนินโครงการและด้านผลผลิตของโครงการ โดยศึกษาผลการประเมินตามความคิดเห็นของประชากรในการประเมิน ประกอบด้วย ครูและเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน รวมจำนวนทั้งสิ้น 184 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ แบบสอบถามการประเมินโครงการจำนวน 3 ฉบับ ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่น ฉบับที่1 คือ 0.839 ฉบับที่ 2 คือ 0.892 และฉบับที่ 3 คือ 0.861 ตามลำดับ ทำการวิเคราะห์ข้อมูล โดยการหาค่าเฉลี่ย (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(Standard deviation) และนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปตารางประกอบความเรียง
ผลการประเมิน พบว่า
1. ด้านปัจจัยพื้นฐานสภาวะแวดล้อมของโครงการ โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือโครงการนี้จะส่งเสริมให้นักเรียนสามารถดำรงชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รองลงมาคือ ผู้ปกครองนักเรียนและชุมชนมีความเห็นชอบในกิจกรรมการดำเนินโครงการและ ครู บุคลากรและ ผู้ร่วมปฏิบัติงานในโครงการ มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน ส่วนค่าเฉลี่ยอันดับสุดท้าย คือ งบประมาณที่จัดสรรในการดำเนินโครงการมีเพียงพอ
2. ด้านกระบวนการปฏิบัติระหว่างดำเนินโครงการ โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ บุคลากรในโรงเรียนมีส่วนร่วมในการวางแผนปฏิบัติกิจกรรมตามโครงการ การดำเนินโครงการเป็นไปตามแผนการจัดกิจกรรมที่วางไว้ รองลงมา คือ โรงเรียนทำการศึกษาและสำรวจข้อมูลอย่างเพียงพอเพื่อช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ชุมชนมีความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของโครงการที่โรงเรียนดำเนินการ การจัดกิจกรรมตามโครงการเป็นไปตามแผนปฏิบัติการที่กำหนดไว้และการนิเทศ ติดตามและแก้ไขการจัดกิจกรรมตามโครงการ ทำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยอันดับสุดท้าย คือ โรงเรียนได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน วัสดุอุปกรณ์จากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในการดำเนินงาน
3. ด้านผลผลิตของโครงการ จำแนกตามความคิดเห็นของครูและเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน
3.1 ครูและเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความคิดเห็นต่อผลผลิตของ
โครงการโดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามมาตรฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง รองลงมา คือ บุคลากรและนักเรียนรู้จักใช้และจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และบุคลากรและนักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยอันดับสุดท้าย คือ ผู้เรียนสามารถเผยแพร่แนวคิดการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุและเศรษฐกิจ
3.2 นักเรียน มีความคิดเห็นต่อผลผลิตของโครงการ โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ข้อที่มี
ค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ นักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างความพอเพียงระดับโรงเรียนและชุมชนใกล้ตัว รองลงมา คือ นักเรียนสามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและนักเรียนไม่ฟุ้งเฟ้อและประหยัดในแนวทางที่ถูกต้อง ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยอันดับสุดท้าย คือ นักเรียนรู้จักเตรียมตัวให้พร้อมรับกับความผันผวนของเหตุการณ์ต่างๆ อย่างรู้เท่าทัน
3.3 ผู้ปกครองนักเรียน มีความคิดเห็นต่อผลผลิตของโครงการ โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ข้อที่มี
ค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ บุตรหลานมีพฤติกรรมการใช้เงินเปลี่ยนแปลงในทางบวก รองลงมา คือ บุตรหลานมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมายและบุตรหลานสามารถแก้ปัญหาต่างๆด้วยตนเองได้ดีขึ้น ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยอันดับสุดท้าย คือ บุตรหลานมีความสนใจที่จะทำงานเพื่อหารายได้พิเศษระหว่างกำลังเรียน