การพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ CIPP MODEL
ชื่อผู้วิจัย : นันท์นภัส สิงห์วรทัต
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง “การพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางด้วยรูปแบบซิปปา(CIPPA MODEL) ร่วมกับวิธีการสอนแบบเปิด เรื่อง การบวกและการลบจำนวนนับที่ผลลัพธ์และตัวตั้งไม่เกิน 1,000 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ” เป็นการวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาแผนการจัดการเรียนการสอนรูปแบบซิปปา(CIPPA MODEL) ร่วมกับวิธีการสอนแบบเปิด ใช้กระบวนการวิจัยแบบผสมผสานวิธี (Mixed Methodology) และรูปแบบ การวิจัย Pre-Experimental Design โดยในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้แบบแผนการวิจัยเป็นแบบกลุ่มเดียวมีการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน The One-Group Pretest-Posttest Design
ผลการวิจัย พบว่า
1. แผนการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางด้วยรูปแบบซิปปา
(CIPPA MODEL) ร่วมกับวิธีการสอนแบบเปิด เรื่อง การบวกและการลบจำนวนนับที่ผลลัพธ์และตัวตั้งไม่เกิน 1,000 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นทบทวนบทเรียนและความรู้เดิม ขั้นนี้ครูจะแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ให้ผู้เรียนทราบและในขั้นนี้ครูและนักเรียนทบทวนบทเรียนที่ผ่านมาร่วมกันโดยครูใช้คำถามนำ เพื่อให้นักเรียนตอบคำถามพร้อมกัน โดยการตอบคำถามหรือสถานการณ์ที่ใกล้ตัว ที่ครูสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการเชื่อมโยงความรู้ใหม่โดยผู้สอนใช้วิธีการที่หลากหลาย 2) ขั้นนำเสนอปัญหาปลายเปิดเพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ ขั้นนี้ครูใช้สื่อโดยใช้ของจริง รูปภาพ แนะนำแหล่งความรู้ผู้เรียนและครูจะร่วมกันอภิปรายตอบคำถามจากสถานการณ์ที่หลากหลาย ในขั้นนี้ครูนำเสนอปัญหาปลายเปิด จากนั้นให้นักเรียนทำความเข้าใจปัญหา โดยครูใช้คำถามนำเพื่อให้นักเรียนวิเคราะห์ปัญหา ถึงสิ่งที่โจทย์กำหนดให้และสิ่งที่โจทย์ต้องการ 3) ขั้นแสวงหาความรู้ใหม่ รวบรวมข้อมูล และแนวคิดคิดที่เกี่ยวข้อง ขั้นนี้ผู้เรียนต้องศึกษาข้อมูล และทำความเข้าใจกับข้อมูล/ความรู้ ที่หามาได้ผู้เรียนต้องสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยใช้กระบวนการคิด ใช้สื่อรูปธรรม วางแผนโดยอาศัยการเชื่อมโยงกับความรู้เดิมนักเรียนแต่ละคนวางแผนแก้ปัญหาอย่างอิสระนักเรียน พร้อมทั้งบันทึกแนวคิดหรือวิธีการแก้ปัญหาลงในกิจกรรม โดยครูใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนมีกระบวนการแก้ปัญหาหรือคำตอบของปัญหาที่หลากหลาย 4) ขั้นออกแบบวิธีการแก้ปัญหา และแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม ขั้นนี้ผู้เรียนทำกิจกรรมในใบความรู้ โดยลงมือปฏิบัติจากสื่อรูปธรรม ผู้เรียนในกลุ่มช่วยกันทำงาน สร้างสรรค์ผลงาน และเรียนรู้จากขบวนการกลุ่มในใบความรู้ ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มละ 5-6 คน จากนั้ นให้นักเรียนแต่ละคนอธิบายและแลกเปลี่ยนแนวคิดการแก้ปัญหาของคนภายในกลุ่ม เพื่อหาแนวคิด แล้วลงมือแก้ปัญหาร่วมกัน พร้อมทั้งบันทึกวิธีการแก้ปัญหาลงในใบกิจกรรมของแต่ละคน 5) ขั้นวางแผน ดำเนินการแก้ไขปัญหาสรุปจัดระเบียบความรู้และวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ ขั้นนี้เป็นขั้นของการสรุปความรู้ที่ได้รับทั้งหมดทั้งความรู้เดิมและความรู้ใหม่ โดยนำมาจัดให้เป็นระบบระเบียบเพื่อสรุปสาระสำคัญของบทเรียนช่วยให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่เรียนรู้ ได้ดียิ่งขึ้น โดยการสรุปหลากหลายรูปแบบ อาทิ ใช้เพลง เกม ในการสรุป ผู้เรียนและครูร่วมกันสรุป ในขั้นนี้ครูสุ่มตัวแทนกลุ่มของทุกกลุ่มออกมานำเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาของกลุ่มตนเองพร้อมทั้งเขียนวิธีการแก้ปัญหาอย่างละเอียดชัดเจนบนกระดาน จากนั้นเปิดโอกาสให้นักเรียนคน อื่น ๆ ซักถามและอภิปรายแลกเปลี่ยนแนวคิดซึ่งกันและกันภายในชั้นเรียน 6) ขั้นการแสดงผลงาน ตรวจสอบและประเมินผล ขั้นนี้ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงผลงานการสร้างความรู้ของตนเองให้ผู้อื่นรับรู้ โดยการนำผลงานมาติดที่กระดานดำหน้าชั้นเรียน เป็นการช่วยให้ผู้เรียนตรวจสอบเพื่อช่วยให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น นักเรียนร่วมกันเปรียบเทียบและสรุปแนวคิดการแก้ปัญหาของแต่ละกลุ่มที่ได้นำเสนอไป เพื่อให้นักเรียนพิจารณาแนวคิดการแก้ปัญหาที่เหมาะสมสำหรับปัญหานั้น ๆ ซึ่งอาจมีมากกว่า 1 แนวคิดหรือ 1 คำตอบ จากนั้นนักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันสร้างปัญหาใหม่จากปัญหาเดิมโดยอาจเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเงื่อนไขให้กับปัญหาเดิม พร้อมทั้งร่วมกันแก้ปัญหาแล้วบันทึกลงในใบกิจกรรม ครูใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนเกิดแนวคิดที่แปลกใหม่เป็นของตนเอง รวมทั้งให้คำแนะนำเมื่อนักเรียนสร้างปัญหาปลายเปิดที่ไม่เหมาะสม 7) ขั้นพัฒนาทักษะและประยุกต์ใช้ความรู้ ขั้นนี้ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการนำความรู้ความเข้าใจของตนไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยผู้เรียนจะทำใบงาน ที่ครูสร้างขึ้นครูใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนเกิดแนวคิดที่แปลกใหม่เป็นของตนเอง รวมทั้งให้คำแนะนำเมื่อนักเรียนสร้างปัญหาปลายเปิดที่ไม่เหมาะสม และประสิทธิภาพของการพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางด้วยรูปแบบซิปปา(CIPPA MODEL) ร่วมกับวิธีการสอนแบบเปิด เรื่อง การบวกและการลบจำนวนนับที่ผลลัพธ์และตัวตั้งไม่เกิน 1,000 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ 84.85/82.40
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนซึ่งเรียนด้วยแผนการจัดการ เรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางด้วยรูปแบบซิปปา(CIPPA MODEL) ร่วมกับวิธีการสอนแบบเปิด เรื่อง การบวกและการลบจำนวนนับที่ผลลัพธ์และตัวตั้งไม่เกิน 1,000 สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีการพัฒนาในการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางด้วยรูปแบบซิปปา(CIPPA MODEL) ร่วมกับวิธีการสอนแบบเปิด ในภาพรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด ทั้ง 5 ด้าน เรียงตามลำดับจากคะแนนเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ดังนี้ 1) ด้านความสนใจและการมีส่วนร่วม 2) ด้านความสนุกสนานเพลิดเพลิน 3) ด้านการมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น ด้านการเก็บสื่ออุปกรณ์หลังจากใช้ปฏิบัติกิจกรรม และ 5) ด้านการรู้จักการสังเกตและการแก้ไขปัญหา