การศึกษาความพึงพอใจของครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนนักศึกษา
ที่มีต่อการปฏิบัติงานของฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยการอาชีพชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา
ชื่อผู้วิจัย : นายรุจิโรจน์ ดวงกลาง
สถานศึกษา : วิทยาลัยการอาชีพชุมพวง
ปีที่ทำการวิจัย : ๒๕๖๔
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความพึงพอใจของครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน นักศึกษา ที่มีต่อการปฏิบัติงานของฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยการอาชีพชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยการประเมินผลโดยใช้แบบสอบถามความพึงพอใจ แบ่งออกเป็น ๗ ด้าน ประกอบด้วย ด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ ด้านงานอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ด้านสื่อและอุปกรณ์การเรียนรู้ ด้านงานวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการจัดการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วม ด้านสถานที่และสิ่งแวดล้อมทั่วไป ด้านการวัดและประเมินผล กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ ครูผู้สอน บุคลากรทางการศึกษา นักเรียนนักศึกษา จำนวน ๔๗๘ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า ๕ ระดับ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .๙๐ และคำถามปลายเปิด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ทดสอบค่าที (T-test) และค่า (F-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ความพึงพอใจของครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน นักศึกษา ที่มีต่อการปฏิบัติงานของฝ่ายวิชาการวิทยาลัยการอาชีพชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ทั้ง ๗ ด้าน โดยภาพรวมของผู้ตอบแบบสอบถามด้านเพศ อยู่ในระดับมากที่สุด ( X-bar = ๔.๖๔, S.D. = ๐.๓๒) และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน โดยเรียงค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยดังนี้ ด้านสถานที่และสิ่งแวดล้อมทั่วไป มีค่าเฉลี่ย (X-bar= ๔.๗๕, S.D. = ๐.๓๖) ด้านงานวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มีค่าเฉลี่ย (X-bar = ๔.๗๑, S.D. = ๐.๔๐) ด้านการวัดผลและประเมินผล มีค่าเฉลี่ย (X-bar = ๔.๖๖, S.D. = ๐.๔๕) ด้านการจัดการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วม มีค่าเฉลี่ย (X-bar = ๔.๖๖, S.D. = ๐.๔๔) ด้านสื่อและอุปกรณ์การเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ย (X-bar = ๔.๖๔, S.D. = ๐.๕๑) ด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ย (X-bar = ๔.๖๒, S.D. = ๐.๔๖) และด้านงานอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี มีค่าเฉลี่ย (X-bar = ๔.๕๘, S.D. = ๐.๕๑)
๒. ผลการวิเคราะห์การเปรียบเทียบความแตกต่างของ การศึกษาความพึงพอใจของครู บุลากรทางการศึกษา และนักเรียนนักศึกษา ที่มีต่อการปฏิบัติงานของฝ่ายวิชาการวิทยาลัยการอาชีพ ชุมพวง ทั้ง ๗ ด้านประกอบด้วย ด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ ด้านงานอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ด้านสื่อและอุปกรณ์การเรียนรู้ ด้านงานวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการจัดการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วม ด้านสถานที่และสิ่งแวดล้อมทั่วไป และด้านการวัดและประเมินผล ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีเพศต่างกัน อายุต่างกัน และตำแหน่งต่างกัน มีความคิดเห็นในแต่ละด้านแตกต่างกันจึงทำให้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕