การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์
ชื่อเรื่องงานวิจัย การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์เพื่อส่งเสริม
ความสามารถในกาคิดขั้นสูง ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ผู้เขียน นางสาวชุติมา ทองหนู
ปีการศึกษา 2562
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดขั้นสูงของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 2) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดขั้นสูงของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล ๓ (ตลาดล่าง) สังกัดเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ปีการศึกษา 2562 จำนวน 34 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วยรูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในกาคิดขั้นสูงของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 คู่มือการใช้รูปแบบการเรียนการสอน แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดขั้นสูงด้านการคิดวิเคราะห์และการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอน วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ (CHUTIMA Model) ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 คือองค์ประกอบเชิงหลักการและวัตถุประสงค์ องค์ประกอบเชิงกระบวนการ และองค์ประกอบเชิงเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ กระบวนการเรียนการสอนมี 7 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นกระตุ้นเตรียมความพร้อม (Challenge: C) 2) ขั้นบอกสิ่งที่คาดหวัง (hope: H) 3) ขั้นทำความเข้าใจ (Understanding: U) 4) ขั้นอภิปราย (Talk: T) 5) ขั้นปรับปรุง (Improve: I) 6) ขั้นสรุปหลักสำคัญ (Maine: M) 7) ขั้นการนำไปใช้ (Applying: A) โดยที่รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดขั้นสูง ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (CHUTIMA Model) ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 80.60/80.55 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
2. หลังการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน (CHUTIMA Model) นักเรียนมีความสามารถในการคิดขั้นสูงโดยภาพรวมอยู่ในระดับสูงมากและสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ความสามารถในการคิดขั้นสูงโดยภาพรวมของนักเรียนที่เรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ (CHUTIMA Model) พัฒนาขึ้นในช่วงเวลาระหว่างเรียน
4. ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอน (CHUTIMA Model) ในภาพรวม นักเรียนเห็นด้วยในระดับมากที่สุด