การประเมินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการสอนแนววอลดอฟ
การศึกษาวอลดอร์ฟ ในโรงเรียนชุมชนลานสกา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
นครศรีธรรมราช เขต 1
ชื่อผู้ประเมิน : นางสาวนิภา แก้วประคอง
ปีที่ประเมิน : ปีการศึกษา 2563
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้นักเรียนปฐมวัยโดยใช้รูปแบบการสอนตามแนวการศึกษาวอลดอร์ฟ ในโรงเรียนชุมชนลานสกา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 ประเมินโดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ประเมินโครงการในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการและด้านผลผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบท (Context Evaluation) เกี่ยวกับความต้องการจำเป็นของการดำเนินโครงการ ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์และความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด 2) ประเมินปัจจัยนำเข้า ( Input Evaluation) เกี่ยวกับความพร้อมของบุคลากร งบประมาณ สถานที่และความเพียงพอของสื่อและวัสดุอุปกรณ์ 3) ประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) เกี่ยวกับการวางแผนการดำเนินกิจกรรม การดำเนินกิจกรรมตามแผนที่กำหนดไว้ การนิเทศกำกับติดตาม การประเมินผลการจัดกิจกรรมและการสรุปและรายงานผลโครงการ 4) ประเมินผลผลิต (Product Evaluation) ในด้านพัฒนาการของนักเรียนระดับปฐมวัยตามหลักสูตรและตามแนวการจัดการศึกษารูปแบบวอลดอร์ฟและด้านความ พึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ
ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ นักเรียน ครู ผู้ปกครองนักเรียนและกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนชุมชนลานสกา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 ในปีการศึกษา 2563 รวมทั้งสิ้น จำนวน 120 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling) จำนวน 57 คน ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 จำนวน 22 คน ครูผู้สอน จำนวน 6 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 จำนวน 22 คนและกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน (ไม่รวมตัวแทนครูและผู้บริหารโรงเรียน)
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับตามแนวคิดของลิเคิร์ต จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 แบบสอบถามด้านบริบทและปัจจัยนำเข้า ประเมินก่อนการดำเนินงานโครงการ แบบสอบถามมี 4 ตอน ข้อคำถาม 43 ข้อ ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.89 ฉบับที่ 2 แบบสอบถามด้านกระบวนการดำเนินงาน ประเมินระหว่างดำเนินงานโครงการ แบบสอบถามมี 3 ตอน ข้อคำถาม จำนวน 30 ข้อ ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.88 ฉบับที่เ3 ด้านผลผลิตของโครงการ ประเมินหลังเสร็จสิ้นโครงการ แบบสอบถามมี 3 ตอน ข้อคำถามมี 6 ตัวชี้วัด จำนวน 34 ข้อ ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.87เและฉบับที่ 4 แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานของโครงการ ประเมินหลังเสร็จสิ้นโครงการ แบบสอบถามมี 3 ตอน ข้อคำถาม 20 ข้อ ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.84
เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการตอบข้อคำถามในแบบสอบถามรายบุคคล วิเคราะห์ข้อมูล เชิงปริมาณ ด้วยค่าสถิติ ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Windows 16.0 ผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมิน
การประเมินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้นักเรียนปฐมวัยโดยใช้รูปแบบการสอนตามแนวการศึกษาวอลดอร์ฟ ในโรงเรียนชุมชนลานสกา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 4 ด้าน โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยพบว่า ด้านผลผลิตมีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านบริบทของโครงการ ด้านปัจจัยนำเข้าและด้านกระบวนการ ตามลำดับ โดยมีผลการประเมินสามารถสรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินบริบทของโครงการ โดยรวมมีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด โดยพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดและอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด โดยวัตถุประสงค์ของโครงการครอบคลุมสภาพปัญหาของผู้เรียนระดับปฐมวัย ความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือ โรงเรียนมีแผนระยะยาวและระยะสั้นในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาปฐมวัยของสถานศึกษา, โรงเรียนมีการจัดประชุมวางแผนอย่างเป็นระบบและให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน, ความสอดคล้องกับนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ความสอดคล้องกับนโยบายสำนักงานงานเขตพื้นที่ ตามลำดับ
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ โดยรวมมีความพร้อมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยพบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดและอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด พบว่าการจัดบุคลากรรับผิดชอบกิจกรรมเหมาะสมกับความสามารถ ความถนัดและความสนใจ, บุคลากรที่รับผิดชอบกิจกรรมสามารถดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ, จัดพื้นที่/มุมประสบการณ์การเรียนรู้และการเล่นที่เหมาะสมอย่างหลากหลาย, มีการผลิตและใช้สื่อโดยครูผู้สอนตรงตามเนื้อหาในกิจกรรมตามโครงการ, มีการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานโครงการแก่ผู้ปกครองชุมชนที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง มีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือ จำนวนบุคลากรที่รับผิดชอบกิจกรรมของโครงการมีความเหมาะสมเพียงพอ, โครงการได้มีการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานทุกๆ ด้านอย่างเป็นระบบและมีขั้นตอน, ทุกกิจกรรมในโครงการผ่านการทดลองในภาคสนามก่อนนำมาใช้จริง, มีการกำหนดระยะเวลาการติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานโครงการตามแผนการใช้งบประมาณ ในโครงการ, จัดสภาพแวดล้อมภายใน-ภายนอกแหล่งเรียนรู้ที่เพียงพอเหมาะสมปลอดภัย, เลือกใช้สื่อ/อุปกรณ์เทคโนโลยีเครื่องเล่นที่เพียงพอเหมาะสมปลอดภัย ตามลำดับ
3. ผลการประเมินกระบวนการของโครงการ โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยพบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดและอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด จัดกิจกรรมให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม ในการดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน, จัดกิจกรรมและประสบการณ์ทางภาษาที่มีความหมายต่อเด็ก เพื่อการสื่อสารอย่างหลากหลาย ฝึกฟัง พูด ถาม ตอบ เล่าและสนทนาตามลำดับขั้นตอนพัฒนาการมีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือ สาระเนื้อหาตามองค์ประกอบของโครงการมีความชัดเจน ปฏิบัติได้, ผู้รับผิดชอบหลักของแต่ละกิจกรรมมีความรู้ความสามารถทั้งเชิงบริหารจัดการ การออกแบบการจัดการเรียนการสอน การนิเทศติดตามผล, มีคณะกรรมการนิเทศติดตามคอยดูแลติดตามช่วยเหลือในทุกกิจกรรม, มีการวิเคราะห์และนำผลงานจากการนิเทศและสะท้อนผลมานำเสนอและปรับปรุงแก้ไขทั้งระบบอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ตามลำดับ
4. ผลการประเมินผลผลิตของโครงการพบว่า โดยรวมนักเรียนระดับปฐมวัยโรงเรียนชุมชนลานสกา มีพัฒนาการตามหลักสูตรและตามแนวการศึกษาวอลดอร์ฟอยู่ในระดับมากที่สุด ผลผลิตของโครงการ จำนวน 6 ตัวชี้วัด ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 6 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยพบว่า พัฒนาการด้านร่างกาย มีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านจิตวิญญาณของผู้เรียน ด้านอารมณ์ ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน (เก่ง ดี มีสุข) ด้านสังคมและด้านสติปัญญา ตามลำดับ ความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีต่อการดำเนินงานโครงการพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดและอยู่ในระดับมากที่สุด
ดังนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะให้มีการดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมการเรียนรู้นักเรียนปฐมวัยโดยใช้รูปแบบการสอนตามแนวการศึกษาวอลดอร์ฟในโรงเรียนชุมชนลานสกา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 ต่อไป ทั้งนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องตระหนักและเห็นความสำคัญ ให้ความร่วมมือ สนับสนุนอย่างจริงจัง มีการกำกับติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ