การพัฒนารูปแบบการสอนสังคมศึกษาตามแนวคอนสตรัคติวิสซึม
กิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของพลเมืองดี
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย อุดร สายสิงห์
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการสอนสังคมศึกษาตามแนวคอนสตรัคติวิสซึมร่วมกับการร่วมมือกันเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของพลเมืองดี กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2) เพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบการสอนสังคมศึกษาตามแนวคอนสตรัคติวิสซึมร่วมกับการร่วมมือกันเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของพลเมืองดี กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการสอนสังคมศึกษาตามแนวคอนสตรัคติวิสซึมร่วมกับการร่วมมือกันเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของพลเมืองดี กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4) เพื่อประเมินและปรับปรุงรูปแบบการสอนสังคมศึกษาตามแนวคอนสตรัคติวิสซึมร่วมกับการร่วมมือกันเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของพลเมืองดี กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1 ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนบ้านโกตาบารู ตำบลโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 1 จำนวน 26 คน เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองและเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย 1) รูปแบบการสอนสังคมศึกษา ตามแนวคอนสตรัคติวิสซึมร่วมกับการร่วมมือกันเรียนรู้ 2) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของพลเมืองดี จำนวน 5 ชุด 3) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 20 แผน 4) แบบประเมินพฤติกรรมการทำงานกลุ่มของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 20 ข้อ 5) แบบทดสอบวัดผล สัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 40 ข้อ และ 6) แบบสอบถามความพึงพอใจ จำนวน 1 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบน มาตรฐาน ค่าร้อยละ ค่าประสิทธิภาพ และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการสอนสังคมศึกษาตามแนวคอนสตรัคติวิสซึมร่วมกับการร่วมมือกันเรียนรู้ ประกอบด้วย 1) นโยบายการพัฒนาประเทศ เน้นการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา 2) นโยบายการพัฒนา การศึกษา เน้นให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิต ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 กำหนดเป้าหมายด้านผู้เรียน คือ มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ การอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ทักษะด้านการคิด การแก้ปัญหา ความร่วมมือและการทำงานเป็นทีม การสร้างสรรค์และนวัตกรรม การสื่อสาร ทักษะคอมพิวเตอร์ ทักษะอาชีพและการเรียนรู้ รวมทั้งความมีเมตตา กรุณา มีวินัย มีคุณธรรม จริยธรรม ขณะที่เป้าหมายของการจัดการศึกษามุ่งเน้นการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ มีความทั่วถึงและความเท่าเทียม ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษามี 6 ยุทธศาสตร์หลัก โดยยุทธศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการวิจัยครั้งนี้ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ เป้าหมายที่ 2 คนทุกช่วงวัย ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่พิเศษได้รับการศึกษาและเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ 3) การเรียนสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการดำรงชีวิต การอยู่ร่วมกันในสังคม การปรับตัวให้เข้ากับบริบทสภาพแวดล้อม การเข้าใจและปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เป็นพลเมืองที่ดี มีความรับผิดชอบ มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะ มีคุณธรรมและค่านิยมที่เหมาะสม 4) แนวคิดการจัด การเรียนการสอนของครูสังคมศึกษา ครูมีบทบาทหน้าที่ คือ การช่วยเตรียมให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการปรับตัว ช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองได้สูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ จัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ฝึกให้ผู้เรียนรักการเรียนรู้ เป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และสอนวิธีเรียนมากกว่าสอนเนื้อหา โดยครูต้องมีการเสริมแรง ให้กำลังใจ และสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมในการเรียน 5) การจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสซึม (Constructivism Theory) ครูผู้สอนเป็นผู้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้นักเรียนได้เผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นปัญหาที่สามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน จากนั้นนักเรียนแก้ปัญหาจากสถานการณ์นั้น ๆ โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อภิปราย หาข้อสรุป โดยนำความรู้เดิมมาเชื่อมโยงความรู้ใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง 6) การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิคกลุ่มร่วมมือกันเรียนรู้ (Group Investigation: GI) เริ่มจากการจัดกลุ่มผู้เรียนแบบคละความสามารถ ย่อยเนื้อหาสาระวิชาสังคมศึกษาให้เป็นหัวข้อย่อย ให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มเลือกหัวข้อที่สนใจ จากนั้นให้ร่วมกันวางแผนแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบภายในกลุ่ม ร่วมกันกำหนดวิธีการดำเนินงาน วิธีการสืบค้นข้อมูล การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์และสรุปข้อมูล และการนำเสนอผลงาน โดยเน้นให้ทุกคนในกลุ่มมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และ 7) การวิเคราะห์สภาพปัจจุบันปัญหาการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แยกได้เป็น 2 ประเด็นใหญ่ ๆ คือ 7.1) ปัญหาที่เกิดจากผู้อื่นและสภาพแวดล้อม ได้แก่ ปัญหาด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม การใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาหลักเพื่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้นักเรียนอ่านภาษาไทยไม่ออก เขียนไม่ได้ ปัญหาด้านความยากจน ปัญหาครอบครัวแตกแยก ปัญหาด้านผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องไปทำงานต่างถิ่นหรือต่างประเทศ และ 7.2) ปัญหาที่เกิดจากตัวนักเรียนเอง ได้แก่ ปัญหานักเรียนขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และทักษะการทำงานเป็นทีม รวมทั้งไม่กล้าแสดงออก ซึ่งจากสภาพปัญหาที่กล่าวมาจึงส่งผลกระทบให้นักเรียนขาดเรียนบ่อยและมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ สำหรับแนวทางแก้ไขควรได้รับการส่งเสริมและแก้ปัญหาร่วมกันจากทุกภาคส่วนทั้งจากโรงเรียน ชุมชนองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การส่งเสริมด้านอาชีพของผู้ปกครอง ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับการสร้างความตระหนักให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษา การส่งเสริมให้นักเรียนมีการใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น เน้นให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบกลุ่ม การใช้สื่อการเรียนการสอน การออกเยี่ยมบ้านนักเรียน เป็นต้น
2. รูปแบบการสอนสังคมศึกษาตามแนวคอนสตรัคติวิสซึมร่วมกับการร่วมมือกันเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของพลเมืองดี กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น มีชื่อว่า “3PLFE Model” (3พีแอลเอฟอี โมเดล) องค์ประกอบของรูปแบบมี 5 องค์ประกอบ ได้แก่ หลักการ วัตถุประสงค์ ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล และเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ โดยขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มี 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นตอนที่ 1 ขั้นสร้างความสนใจเรียนรู้ (Provide Motivational Anticipatory : P) 2) ขั้นตอนที่ 2 ขั้นนำเสนอบทเรียนและทักษะ (Providing Knowledge and Skills : P) 3) ขั้นตอนที่ 3 ขั้นกิจกรรมร่วมมือกันเรียนรู้ (Learning Together Activity : L) 4) ขั้นตอนที่ 4 ขั้นนำเสนอและอภิปรายผล (Presentation and Discussion : P) 5) ขั้นตอนที่ 5 ขั้นบูรณาการความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ (Functional Integration : F) และ 6) ขั้นตอนที่ 6 ขั้นประเมินผลและนำไปใช้ (Evaluation and Extension : E) และผลการหาประสิทธิภาพของรูปแบบ พบว่า รูปแบบการสอนสังคมศึกษาตามแนวคอนสตรัคติวิสซึมร่วมกับการร่วมมือกันเรียนรู้ แบบ “3PLFE Model” มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 82.30/83.46 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 80/80
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบ พบว่า หลังเรียนด้วยรูปแบบการสอนสังคมศึกษาตามแนวคอนสตรัคติวิสซึมร่วมกับการร่วมมือกันเรียนรู้ แบบ “3PLFE Model” ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 สูงขึ้นกว่าก่อนเรียน ร้อยละ 20.87
4. ผลการประเมินและปรับปรุงรูปแบบการสอนสังคมศึกษาตามแนวคอนสตรัคติวิสซึมร่วมกับการร่วมมือกันเรียนรู้ แบบ “3PLFE Model” พบว่า
4.1 ผลการประเมินพฤติกรรมการทำงานกลุ่มของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากการใช้รูปแบบการสอนสังคมศึกษาตามแนวคอนสตรัคติวิสซึมร่วมกับการร่วมมือกันเรียนรู้ แบบ “3PLFE Model” พบว่า ในภาพรวม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 แสดงพฤติกรรมการทำงานกลุ่มอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 แสดงพฤติกรรมการทำงานกลุ่มมากที่สุด คือ ด้านการสร้างความคุ้นเคย ไว้วางใจ ยอมรับซึ่งกันและกัน รองลงมา คือ ด้านการช่วยเหลือสนับสนุน ยกย่องให้กำลังใจซึ่งกันและ ด้านการสื่อสาร สื่อ และด้านการขจัดข้อขัดแย้ง ตามลำดับ
4.2 ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการสอนสังคมศึกษาตามแนวคอนสตรัคติวิสซึมร่วมกับการร่วมมือกันเรียนรู้ แบบ “3PLFE Model” พบว่า ในภาพรวม นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก โดยเฉพาะนักเรียนชอบที่ได้ค้นหาความรู้และเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มกับเพื่อน และเนื้อหาที่เรียนเป็นเรื่องใกล้ตัว นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้